พญามังราย : ปฐมกษัตริย์ของราชวงศ์มังราย
พญามังรายตั้งเมืองชะแวได้เพียง ๑ ปีก็เกิดน้ำท่วม
จึงได้ย้ายมาสร้างเมืองอีกเมืองหนึ่ง คือ เวียงกุมกาม เมื่อ พ.ศ.๑๘๒๙ ขณะที่พญามังรายครองเวียงกุมกาม
ขุนครามครองเมืองเชียงราย ทำให้เมืองหิรัญนครเงินยางเชียงแสนว่างเว้นเจ้าเมืองปกครอง พญามังรายจึงมีบัญชาให้ท้าวแสนภู พระโอรสของขุนคราม กลับไปฟื้นฟูเมืองหิรัญนครเงินยางเชียงแสน
ท้าวแสนภูจึงได้นำครอบครัวและเสนาอำมาตย์ ประชาชนลงเรือเสด็จล่องตามลำแม่น้ำกกจากเมืองเชียงรายสู่เมืองหิรัญนครเงินยางเชียงแสน
ออกสู่แม่น้ำโขงและแวะพักที่เวียงปรึกษา (เชียงแสนน้อย)
จากนั้นจึงได้เสด็จสู่เมืองหิรัญนครเงินยางเชียงแสน ทรงทำการเปลี่ยนแปลงและปรับปรุงเมือง
ท้าวแสนภูโปรดฯ ให้ขุดคูก่อสร้างกำแพงเมืองตามแนวกำแพงเดิม ถอนวัดหลวงออกและให้สถาปนาวัดเจดีย์หลวงขึ้นแทนที่
และใน พ.ศ.๑๘๓๘ ได้สร้างวัดป่าสักไว้นอกกำแพงเมืองด้านทิศตะวันตก
พญามังรายอยู่ที่เวียงกุมกามได้ ๕
ปีก็มีพระราชดำริว่าจะสร้างเมืองใหม่เนื่องจากเวียงกุมกามน้ำท่วมบ่อยครั้ง
พระองค์ทรงเลือกบริเวณที่ราบลุ่มแม่น้ำปิง ตอนเหนือของเวียงกุมกาม
บริเวณเชิงดอยสุเทพ โดยสร้างเป็นเมืองชั่วคราวก่อน จากนั้นจึงได้ทูลเชิญพญาร่วงแห่งเมืองสุโขทัยและพญางำเมืองแห่งเมืองพะเยามาให้คำปรึกษาเกี่ยวกับการวางผังเมือง
ซึ่งพื้นที่ตั้งเมืองแห่งใหม่นี้ปรากฏลักษณะมงคลของเมือง ๗ ประการ ดังในตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่
ความว่า
ดูรา
เจ้าสหายเราพร้อมกันจักตั้งเวียงที่นี้เผือข้าหันเป็นไชยมงคล ๗ ประการดังนี้
อันแต่ก่อนได้ยินสืบมาว่ากวางเผือก ๒
ตัวแม่ลูกลุกแต่ป่าใหญ่หนเหนือมาอยู่ไชยภูมิที่นี้คนทังหลายย่อมกระทำบูชาเป็นไชยมงคลปถมก่อนแล
อัน ๑ ว่าฟานเผือก ๒ ตัว แม่ลูกมาอยู่ไชยภูมิที่นี้รบหมา
หมาทังหลายพ่ายหนีบ่อาจจักจั้งได้สักตัวเป็นไชยมงคลถ้วน ๒ อัน ๑
เล่าเราทังหลายได้หันหนูเผือกกับบริวาร ๔
ตัวออกมาแต่ไชยภูมิที่นี้เป็นไชยมงคลอันถ้วน ๓ อัน ๑
ภูมิฐานเราจักตั้งเวียงนี้สูงวันตกหลิ่งวันออกเป็นไชยมงคลอันถ้วน ๔ แล อันอยู่ที่นี้หันน้ำตกแต่อุจสุบัพพัตตดอยสุเทพไหลมาเป็นแม่น้ำไหลขึ้นไปหนเหนือ
แล้วไหลกระวัดไปหนวันออกแล้วไหลไปใต้แล้วไหลไปวันตกเกี้ยวเวียงกุมกาม
แม่นำนี้เป็นนครคุณเกี้ยวเมืองอันนี้เป็นไชยมงคลถ้วน ๕
แม่น้ำอันนี้ไหลแต่ดอยลงมาที่ขุนน้ำได้ชื่อว่าแม่ข่าไหล เมือวันออกแล้วไหลไปใต้เทียบข้างแม่พิงไปได้ชื่อว่าแม่โทต่อเท้าบัดนี้แล
อันหนึ่งหนองใหญ่มีวันออกซ้วยเหนือแห่งไชยภูมิได้ชื่อว่าอีสาเนราชบุรีว่าหนองใหญ่มีหนอีสาน
ท้าวพญาต่างประเทสจักมาปูชาสักการมากนักเป็นไชยมงคลถ้วน ๖ แล อัน ๑
แม่ระมิงไหลมาแต่มหาสระอันพระพุทธเจ้าเมื่อยังธรมานได้มาอาบในดอยอ่าวสรงไหลออกมาเป็นขุนน้ำแม่ระมิงพายวันออกเวียงเป็นไชยมงคลถ้วน
๗ แล (ตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่, ๔๕)
เมื่อสร้างเมืองแล้วเสร็จใน
พ.ศ. ๑๘๓๙ “พญาทังสามก็เบิกนามเมืองว่า นพบุรีศรีนครเชียงใหม่
![]() |
แผนที่เมืองเชียงใหม่ซึ่งแนวกำแพงเมืองเป็นลักษณะสี่เหลี่ยมผืนผ้าที่เกือบจะเป็นจัตุรัส ซึ่งได้รับอิทธิพลการสร้างเมืองลักษณะนี้มาจากสุโขทัย |
ปัจจัยที่ส่งผลให้พญามังรายสร้างเมืองเชียงใหม่อันเป็นศูนย์กลางของอาณาจักรล้านนาใน พ.ศ. ๑๘๓๙ นั้น มีปัจจัยสนับสนุนหลายอย่าง ทั้งการที่อาณาจักรพุกาม
เริ่มเสื่อมอำนาจลงใน พ.ศ.๑๗๗๗ เนื่องจากการทรุดโทรมของอาณาจักร
และการมีกษัตริย์ที่อ่อนแอ ใน พ.ศ. ๑๘๓๐ กุบไลข่านจากมองโกลตีพุกามได้สำเร็จ
จึงทำให้ดินแดนพม่าแตกแยกเป็นหลายส่วน
อาณาจักรเขมรโบราณซึ่งเคยเป็นอาณาจักรที่เรืองอำนาจถึงบริเวณลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาได้เสื่อมอำนาจลง
กระทั่งถึงพุทธศตวรรษที่ ๑๙ ก็เสียดินแดนลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาให้แก่อาณาจักรสุโขทัย
สมัยพ่อขุนรามคำแหง (สันนิษฐานว่าคือพญาร่วงแห่งเมืองสุโขทัยในตำนานของล้านนานั่นเอง”
พญามังรายทรงใช้โอกาสที่อาณาจักรใกล้เคียงเสื่อมสลาย
อันมีผลมาจากความเสื่อมโทรมของอาณาจักร และความอ่อนแอของกษัตริย์
ในการสร้างฐานพระราชอำนาจของพระองค์
โดยพระองค์ได้สร้างภาพลักษณ์ของตนให้เหมาะสมตามคุณลักษณะของผู้นำที่ดี อาทิ มีบุคลิกภาพดี
มีสติปัญญาดี มีบุญญาธิการ มีคุณธรรม มีความรู้ในจารีตประเพณี เป็นต้น
พญามังรายสามารถขยายพระราชอำนาจได้กว้างขวางและรวดเร็วกว่ากษัตริย์พระองค์อื่นๆ
เนื่องจาก พญามังรายอ้างสิทธิธรรมจากการเป็นผู้สืบสันตติวงศ์จากปฐมกษัตริย์โดยตรง
และได้ปกครองเมืองหิรัญนครเงินยางเชียงแสน
ซึ่งเป็นเมืองใหญ่และมีความสำคัญที่สุดในขณะนั้น
โดยพระองค์ได้อ้างสิทธิธรรมที่พระองค์สืบเชื้อสายโดยตรงจากลาวจกโดยได้ผ่านพิธีรับน้ำมุทธาภิเษกและได้รับเครื่องราชาภิเษก
คือ ดาบไชย หอก และมีดศรีกัญไชย ซึ่งสิ่งเหล่านี้เป็นของที่ตกทอดมายังกษัตริย์ทุกพระองค์
เพื่อแสดงถึงศักดดิ์และสิทธิ์ในราชสมบัติแต่เพียงพระองค์เดียว นอกจากนี้
พญามังรายทรงอ้างว่าเจ้าเมืองอื่นๆ นั้นเพียงแค่สืบสายจากพี่น้องแห่งพระราชวงศ์ที่ห่างออกไป
จึงถือเป็นเพียงเมืองบริวาร มีหน้าที่ต้องส่งส่วยให้แก่เมืองหิรัญนครเงินยางเชียงแสนด้วย
ตัวอย่างหลักฐานที่ปรากฏในตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่
ที่เน้นให้เห็นถึงสิทธิอันชอบธรรมในการดำรงอำนาจเป็นใหญ่เพียงหนึ่งเดียวของพญามังรายว่า
ลาวครอบลาวช้าง
บ่ได้น้ำมุทธาภิเษกรดหัวสักคน เท่าปู่กู้เจ้าพระยาลาว เก๊าอันเป็นน้องเขาเจ้าลาวครอบช้างนั้นตนเดียว
ได้น้ำมุทธาภิเษกเป็นพระยาสืบปรัมปราต่อเท่าถึงกูบัดนี้ อันเครื่องราชาภิเษก
เป็นต้นว่า ดาบไชย หอก และมีดศรีกัญไชย แก้วแสงอันอุดมมักเป็นของแก่
เช่นปู่เจ้าลาวจกมา กูก็ได้ทรงมาต่อเท่าบัดนี้ทุกอัน เขาฝูงเป็นพระยาอยู่จิ้มใกล้กู
บ่ได้น้ำมุทธาภิเษกอย่างกูสักคน ...
ในการสร้างเมืองเชียงใหม่
พญามังรายทรงเชิญพญางำเมือง
และพ่อขุนรามคำแหงมาร่วมกันพิจารณาถึงชัยภูมิและการวางผังเมือง
ผังเมืองเชียงใหม่มีลักษณะคล้ายกับผังเมืองสุโขทัย ทั้งนี้เพราะเมืองเชียงใหม่รับอิทธิพลมาจากสุโขทัย
ผังเมืองจึงเป็นรูปทรงแบบสี่เหลี่ยม ซึ่งหลังจากนั้นไม่พบว่าเมืองใดในล้านนามีการวางผังเมืองเช่นนี้อีก
สาเหตุที่พญามังรายย้ายเมืองหลวงจากเวียงกุมกามมายังเชียงใหม่มีเหตุผลทั้งหมด
๔ ประการ คือ
๑. เชียงใหม่ตั้งอยู่กลางระหว่างที่ราบลุ่มแม่น้ำกกและที่ราบลุ่มแม่น้ำปิงจึงสามารถควบคุมหัวเมืองต่างๆ
ที่ขึ้นอยู่กับแคว้นโยนและแคว้นพิงค์
๒.ที่ตั้งของเชียงใหม่เหมาะสำหรับการเป็นศูนย์กลางทางการค้า
เพราะสามารถใช้แม่น้ำปิงในการติดต่อค้าขายกับหัวเมืองตอนใต้ได้อย่างสะดวก
และยังสามารถติดต่อค้าขายกับเมืองตอนบน เช่น เชียงแสน ยูนนาน ได้อีกด้วย
ซึ่งทำให้มีความรุ่งเรืองทางเศรษฐกิจ
๓.ความอุดมสมบูรณ์ของที่ราบลุ่มแม่น้ำปิง
โดยเฉพาะบริเวณที่ตั้งเชียงใหม่จะเป็นที่ราบขนาดใหญ่ที่ติดต่อกันไปจนถึงลำพูน
นับเป็นที่ราบผืนใหญ่ที่สุดในอาณาจักรล้านนาจึงมีความเหมาะสมต่อการตั้งชุมชนขนาดใหญ่ที่ทำอาชีพเกษตรกรรม
๔.บริเวณที่ตั้งของตัวเมืองเชียงใหม่
ซึ่งอยู่ระหว่างดอยสุเทพกับแม่น้ำปิง
มีความเหมาะสมเพราะพื้นที่ลาดเทมาจากตะวันตกมาตะวันออก
สายน้ำจากดอยสุเทพจะไหลมาหล่อเลี้ยงตัวเมืองเชียงใหม่ตลอดเวลา
และทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือของเมืองมีหนองน้ำใหญ่อยู่จึงบริบูรณ์ไปด้วยน้ำ
นอกจากนั้นการสร้างเมืองเชียงใหม่
ยังเหมาะสมกับสถานการณ์บ้านเมืองในขณะนั้นด้วย
เนื่องจากเป็นช่วงที่กำลังอำนาจของมองโกลลดลง
เพราะจักรพรรดิกุบไลข่านสิ้นพระชนม์แล้ว กล่าวคือ
จักรพรรดิกุบไลข่านแห่งมองโกลส่งกองทัพไปตีอาณาจักปาไป่ซีฟู ( ล้านนา ) ครั้งแรกใน
พ.ศ.๑๘๓๕ มีสาเหตุมาจากการที่พญามังรายให้ความช่วยเหลือแก่ผู้นำไทยใหญ่สามพี่น้องในการขับไล่กองทัพมองโกลออกจากพุกาม
เมื่อหัวหน้าไทยใหญ่สามพี่น้องประสบความสำเร็จในการขับไล่มองโกลออกไป
พญามังรายก็ได้โอกาสในการเข้ายึดหริภุญชัย และผนวกแคว้นโยนเข้าเป็นอาณาจักร นับเป็นการประกาศความเข้มแข็งของพญามังรายซึ่งอาจจะเป็นอุปสรรคต่อการขยายอำนาจของมองโกลในดินแดนแถบนี้
การเคลื่อนไหวทางการเมืองครั้งใหญ่ของพญามังรายในลักษณะต่อต้านมองโกลดังกล่าวทำให้มองโกลยกทัพมาตีอาณาจักรของพระองค์
หลังจากถูกมองโกลรุกรานแล้ว พญามังรายยุติการเคลื่อนไหวทางการเมืองที่จะแสดงท่าทีต่อต้านอำนาจมองโกลเพราะเกรงว่าจะถูกมองโกลโจมตีอีก
พญามังรายรอดูท่าทีจนเห็นว่าอำนาจของมองโกลลดลง
พญามังรายจึงได้สร้างเมืองเชียงใหม่ขึ้น เพื่อสร้างความเข้มแข็งและความมั่นคงของอาณาจักรให้เกิดขึ้น
อีกทั้งการอัญเชิญพญางำเมืองและพญาร่วงมาร่วมตั้งเมืองเชียงใหม่นั้นยังแสดงให้เห็นถึงกลุ่มพันธมิตรของพญามังรายได้อย่างชัดเจน
ในสมัยของพญามังราย
อาณาจักรล้านนามีความมั่งคั่งและสมบูรณ์เป็นอย่างมาก
เนื่องจากพระองค์สามารถควบคุมเมืองตามที่ราบลุ่มแม่น้ำ
และเส้นทางบกที่สำคัญได้เป็นผลสำเร็จ ได้แก่ ที่ราบลุ่มแม่น้ำสบกก
ที่ราบลุ่มเมืองฝาง ที่ราบลุ่มแม่น้ำยม และที่ราบลุ่มแม่น้ำน่าน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง
บริเวณลุ่มแม่น้ำปิงและลุ่มแม่น้ำวังมีความสำคัญทางยุทธศาสตร์เป็นอย่างมาก เนื่องจากเป็นเส้นทางในการติดต่อค้าขายกับเมืองทางใต้ได้ตลอดถึงละโว้และอโยธยา
และมีเส้นทางทางบกที่สามารถเดินทางไปได้ทุกเมือง
พญามังรายสร้างความเจริญรุ่งเรืองให้กับอาณาจักรล้านนานานัปการตลอดพระชนม์ชีพของพระองค์
ทั้งทางด้านการขยายอาณาเขตให้กว้างขวาง
โดยเลือกเอาเมืองใหญ่ที่เพียบพร้อมไปด้วยทรัพยากรธรรมชาติ และเป็นเส้นทางติดต่อกับหัวเมืองสำคัญ
เป็นศูนย์กลางอำนาจ เพื่อประโยชน์ทางเศรษฐกิจ ทั้งด้านการเกษตรกรรมและการค้า
ด้านกฎหมาย มีการใช้กฎหมาย “มังรายศาสตร์” ในการควบคุมดูแลสังคมให้เกิดความสงบสุข
นอกจากนี้ยังทรงทำนุบำรุงพระพุทธศาสนา โดยการสร้างพุทธสถานและพระพุทธรูป
ในอาณาจักรล้านนาอีกด้วย จึงถือได้ว่าอาณาจักรล้านนาในสมัยพญามังราย
เป็นจุดเริ่มต้นของอาณาจักรล้านนาที่มีความเจริญรุ่งเรือง
พญามังรายสร้างเมืองเชียงใหม่และประทับอยู่เมืองนี้ตลอดพระชนม์ชีพของพระองค์
พญามังรายต้องอสุนีบาตที่ตลาดกลางเมืองเชียงใหม่สิ้นพระชนม์ใน พ.ศ. ๑๘๖๐