วันศุกร์ที่ 31 กรกฎาคม พ.ศ. 2558

ราชวงศ์มังรายกับการสร้างนครเชียงใหม่ ศูนย์กลางของอาณาจักรล้านนา


พญามังราย  :  ปฐมกษัตริย์ของราชวงศ์มังราย
พญามังรายตั้งเมืองชะแวได้เพียง ๑ ปีก็เกิดน้ำท่วม จึงได้ย้ายมาสร้างเมืองอีกเมืองหนึ่ง คือ เวียงกุมกาม เมื่อ พ.ศ.๑๘๒๙ ขณะที่พญามังรายครองเวียงกุมกาม ขุนครามครองเมืองเชียงราย ทำให้เมืองหิรัญนครเงินยางเชียงแสนว่างเว้นเจ้าเมืองปกครอง  พญามังรายจึงมีบัญชาให้ท้าวแสนภู พระโอรสของขุนคราม กลับไปฟื้นฟูเมืองหิรัญนครเงินยางเชียงแสน ท้าวแสนภูจึงได้นำครอบครัวและเสนาอำมาตย์ ประชาชนลงเรือเสด็จล่องตามลำแม่น้ำกกจากเมืองเชียงรายสู่เมืองหิรัญนครเงินยางเชียงแสน ออกสู่แม่น้ำโขงและแวะพักที่เวียงปรึกษา (เชียงแสนน้อย) จากนั้นจึงได้เสด็จสู่เมืองหิรัญนครเงินยางเชียงแสน ทรงทำการเปลี่ยนแปลงและปรับปรุงเมือง ท้าวแสนภูโปรดฯ ให้ขุดคูก่อสร้างกำแพงเมืองตามแนวกำแพงเดิม ถอนวัดหลวงออกและให้สถาปนาวัดเจดีย์หลวงขึ้นแทนที่ และใน พ.ศ.๑๘๓๘ ได้สร้างวัดป่าสักไว้นอกกำแพงเมืองด้านทิศตะวันตก
พญามังรายอยู่ที่เวียงกุมกามได้ ๕ ปีก็มีพระราชดำริว่าจะสร้างเมืองใหม่เนื่องจากเวียงกุมกามน้ำท่วมบ่อยครั้ง พระองค์ทรงเลือกบริเวณที่ราบลุ่มแม่น้ำปิง ตอนเหนือของเวียงกุมกาม บริเวณเชิงดอยสุเทพ โดยสร้างเป็นเมืองชั่วคราวก่อน จากนั้นจึงได้ทูลเชิญพญาร่วงแห่งเมืองสุโขทัยและพญางำเมืองแห่งเมืองพะเยามาให้คำปรึกษาเกี่ยวกับการวางผังเมือง ซึ่งพื้นที่ตั้งเมืองแห่งใหม่นี้ปรากฏลักษณะมงคลของเมือง ๗ ประการ ดังในตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่ ความว่า

ดูรา เจ้าสหายเราพร้อมกันจักตั้งเวียงที่นี้เผือข้าหันเป็นไชยมงคล ๗ ประการดังนี้ อันแต่ก่อนได้ยินสืบมาว่ากวางเผือก ๒ ตัวแม่ลูกลุกแต่ป่าใหญ่หนเหนือมาอยู่ไชยภูมิที่นี้คนทังหลายย่อมกระทำบูชาเป็นไชยมงคลปถมก่อนแล อัน ๑ ว่าฟานเผือก ๒ ตัว แม่ลูกมาอยู่ไชยภูมิที่นี้รบหมา หมาทังหลายพ่ายหนีบ่อาจจักจั้งได้สักตัวเป็นไชยมงคลถ้วน ๒ อัน ๑ เล่าเราทังหลายได้หันหนูเผือกกับบริวาร ๔ ตัวออกมาแต่ไชยภูมิที่นี้เป็นไชยมงคลอันถ้วน ๓ อัน ๑ ภูมิฐานเราจักตั้งเวียงนี้สูงวันตกหลิ่งวันออกเป็นไชยมงคลอันถ้วน ๔ แล อันอยู่ที่นี้หันน้ำตกแต่อุจสุบัพพัตตดอยสุเทพไหลมาเป็นแม่น้ำไหลขึ้นไปหนเหนือ แล้วไหลกระวัดไปหนวันออกแล้วไหลไปใต้แล้วไหลไปวันตกเกี้ยวเวียงกุมกาม แม่นำนี้เป็นนครคุณเกี้ยวเมืองอันนี้เป็นไชยมงคลถ้วน ๕ แม่น้ำอันนี้ไหลแต่ดอยลงมาที่ขุนน้ำได้ชื่อว่าแม่ข่าไหล เมือวันออกแล้วไหลไปใต้เทียบข้างแม่พิงไปได้ชื่อว่าแม่โทต่อเท้าบัดนี้แล อันหนึ่งหนองใหญ่มีวันออกซ้วยเหนือแห่งไชยภูมิได้ชื่อว่าอีสาเนราชบุรีว่าหนองใหญ่มีหนอีสาน ท้าวพญาต่างประเทสจักมาปูชาสักการมากนักเป็นไชยมงคลถ้วน ๖ แล อัน ๑ แม่ระมิงไหลมาแต่มหาสระอันพระพุทธเจ้าเมื่อยังธรมานได้มาอาบในดอยอ่าวสรงไหลออกมาเป็นขุนน้ำแม่ระมิงพายวันออกเวียงเป็นไชยมงคลถ้วน ๗ แล (ตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่, ๔๕)

เมื่อสร้างเมืองแล้วเสร็จใน พ.๑๘๓๙ “พญาทังสามก็เบิกนามเมืองว่า นพบุรีศรีนครเชียงใหม่

แผนที่เมืองเชียงใหม่ซึ่งแนวกำแพงเมืองเป็นลักษณะสี่เหลี่ยมผืนผ้าที่เกือบจะเป็นจัตุรัส
ซึ่งได้รับอิทธิพลการสร้างเมืองลักษณะนี้มาจากสุโขทัย

ปัจจัยที่ส่งผลให้พญามังรายสร้างเมืองเชียงใหม่อันเป็นศูนย์กลางของอาณาจักรล้านนาใน พ.ศ. ๑๘๓๙ นั้น มีปัจจัยสนับสนุนหลายอย่าง ทั้งการที่อาณาจักรพุกาม เริ่มเสื่อมอำนาจลงใน พ.ศ.๑๗๗๗ เนื่องจากการทรุดโทรมของอาณาจักร และการมีกษัตริย์ที่อ่อนแอ ใน พ.ศ. ๑๘๓๐ กุบไลข่านจากมองโกลตีพุกามได้สำเร็จ จึงทำให้ดินแดนพม่าแตกแยกเป็นหลายส่วน
อาณาจักรเขมรโบราณซึ่งเคยเป็นอาณาจักรที่เรืองอำนาจถึงบริเวณลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาได้เสื่อมอำนาจลง กระทั่งถึงพุทธศตวรรษที่ ๑๙ ก็เสียดินแดนลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาให้แก่อาณาจักรสุโขทัย สมัยพ่อขุนรามคำแหง (สันนิษฐานว่าคือพญาร่วงแห่งเมืองสุโขทัยในตำนานของล้านนานั่นเอง”
พญามังรายทรงใช้โอกาสที่อาณาจักรใกล้เคียงเสื่อมสลาย อันมีผลมาจากความเสื่อมโทรมของอาณาจักร และความอ่อนแอของกษัตริย์ ในการสร้างฐานพระราชอำนาจของพระองค์ โดยพระองค์ได้สร้างภาพลักษณ์ของตนให้เหมาะสมตามคุณลักษณะของผู้นำที่ดี อาทิ มีบุคลิกภาพดี มีสติปัญญาดี มีบุญญาธิการ มีคุณธรรม มีความรู้ในจารีตประเพณี เป็นต้น
พญามังรายสามารถขยายพระราชอำนาจได้กว้างขวางและรวดเร็วกว่ากษัตริย์พระองค์อื่นๆ เนื่องจาก พญามังรายอ้างสิทธิธรรมจากการเป็นผู้สืบสันตติวงศ์จากปฐมกษัตริย์โดยตรง และได้ปกครองเมืองหิรัญนครเงินยางเชียงแสน ซึ่งเป็นเมืองใหญ่และมีความสำคัญที่สุดในขณะนั้น โดยพระองค์ได้อ้างสิทธิธรรมที่พระองค์สืบเชื้อสายโดยตรงจากลาวจกโดยได้ผ่านพิธีรับน้ำมุทธาภิเษกและได้รับเครื่องราชาภิเษก คือ ดาบไชย หอก และมีดศรีกัญไชย ซึ่งสิ่งเหล่านี้เป็นของที่ตกทอดมายังกษัตริย์ทุกพระองค์ เพื่อแสดงถึงศักดดิ์และสิทธิ์ในราชสมบัติแต่เพียงพระองค์เดียว นอกจากนี้ พญามังรายทรงอ้างว่าเจ้าเมืองอื่นๆ นั้นเพียงแค่สืบสายจากพี่น้องแห่งพระราชวงศ์ที่ห่างออกไป จึงถือเป็นเพียงเมืองบริวาร มีหน้าที่ต้องส่งส่วยให้แก่เมืองหิรัญนครเงินยางเชียงแสนด้วย
ตัวอย่างหลักฐานที่ปรากฏในตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่ ที่เน้นให้เห็นถึงสิทธิอันชอบธรรมในการดำรงอำนาจเป็นใหญ่เพียงหนึ่งเดียวของพญามังรายว่า

ลาวครอบลาวช้าง บ่ได้น้ำมุทธาภิเษกรดหัวสักคน เท่าปู่กู้เจ้าพระยาลาว เก๊าอันเป็นน้องเขาเจ้าลาวครอบช้างนั้นตนเดียว ได้น้ำมุทธาภิเษกเป็นพระยาสืบปรัมปราต่อเท่าถึงกูบัดนี้ อันเครื่องราชาภิเษก เป็นต้นว่า ดาบไชย หอก และมีดศรีกัญไชย แก้วแสงอันอุดมมักเป็นของแก่ เช่นปู่เจ้าลาวจกมา กูก็ได้ทรงมาต่อเท่าบัดนี้ทุกอัน เขาฝูงเป็นพระยาอยู่จิ้มใกล้กู บ่ได้น้ำมุทธาภิเษกอย่างกูสักคน ...

ในการสร้างเมืองเชียงใหม่ พญามังรายทรงเชิญพญางำเมือง และพ่อขุนรามคำแหงมาร่วมกันพิจารณาถึงชัยภูมิและการวางผังเมือง ผังเมืองเชียงใหม่มีลักษณะคล้ายกับผังเมืองสุโขทัย ทั้งนี้เพราะเมืองเชียงใหม่รับอิทธิพลมาจากสุโขทัย ผังเมืองจึงเป็นรูปทรงแบบสี่เหลี่ยม ซึ่งหลังจากนั้นไม่พบว่าเมืองใดในล้านนามีการวางผังเมืองเช่นนี้อีก
สาเหตุที่พญามังรายย้ายเมืองหลวงจากเวียงกุมกามมายังเชียงใหม่มีเหตุผลทั้งหมด ๔ ประการ คือ
๑. เชียงใหม่ตั้งอยู่กลางระหว่างที่ราบลุ่มแม่น้ำกกและที่ราบลุ่มแม่น้ำปิงจึงสามารถควบคุมหัวเมืองต่างๆ ที่ขึ้นอยู่กับแคว้นโยนและแคว้นพิงค์
๒.ที่ตั้งของเชียงใหม่เหมาะสำหรับการเป็นศูนย์กลางทางการค้า เพราะสามารถใช้แม่น้ำปิงในการติดต่อค้าขายกับหัวเมืองตอนใต้ได้อย่างสะดวก และยังสามารถติดต่อค้าขายกับเมืองตอนบน เช่น เชียงแสน  ยูนนาน ได้อีกด้วย ซึ่งทำให้มีความรุ่งเรืองทางเศรษฐกิจ
๓.ความอุดมสมบูรณ์ของที่ราบลุ่มแม่น้ำปิง โดยเฉพาะบริเวณที่ตั้งเชียงใหม่จะเป็นที่ราบขนาดใหญ่ที่ติดต่อกันไปจนถึงลำพูน  นับเป็นที่ราบผืนใหญ่ที่สุดในอาณาจักรล้านนาจึงมีความเหมาะสมต่อการตั้งชุมชนขนาดใหญ่ที่ทำอาชีพเกษตรกรรม
๔.บริเวณที่ตั้งของตัวเมืองเชียงใหม่ ซึ่งอยู่ระหว่างดอยสุเทพกับแม่น้ำปิง มีความเหมาะสมเพราะพื้นที่ลาดเทมาจากตะวันตกมาตะวันออก สายน้ำจากดอยสุเทพจะไหลมาหล่อเลี้ยงตัวเมืองเชียงใหม่ตลอดเวลา และทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือของเมืองมีหนองน้ำใหญ่อยู่จึงบริบูรณ์ไปด้วยน้ำ
นอกจากนั้นการสร้างเมืองเชียงใหม่ ยังเหมาะสมกับสถานการณ์บ้านเมืองในขณะนั้นด้วย เนื่องจากเป็นช่วงที่กำลังอำนาจของมองโกลลดลง เพราะจักรพรรดิกุบไลข่านสิ้นพระชนม์แล้ว กล่าวคือ จักรพรรดิกุบไลข่านแห่งมองโกลส่งกองทัพไปตีอาณาจักปาไป่ซีฟู ( ล้านนา ) ครั้งแรกใน พ.ศ.๑๘๓๕ มีสาเหตุมาจากการที่พญามังรายให้ความช่วยเหลือแก่ผู้นำไทยใหญ่สามพี่น้องในการขับไล่กองทัพมองโกลออกจากพุกาม
เมื่อหัวหน้าไทยใหญ่สามพี่น้องประสบความสำเร็จในการขับไล่มองโกลออกไป พญามังรายก็ได้โอกาสในการเข้ายึดหริภุญชัย และผนวกแคว้นโยนเข้าเป็นอาณาจักร  นับเป็นการประกาศความเข้มแข็งของพญามังรายซึ่งอาจจะเป็นอุปสรรคต่อการขยายอำนาจของมองโกลในดินแดนแถบนี้ การเคลื่อนไหวทางการเมืองครั้งใหญ่ของพญามังรายในลักษณะต่อต้านมองโกลดังกล่าวทำให้มองโกลยกทัพมาตีอาณาจักรของพระองค์
หลังจากถูกมองโกลรุกรานแล้ว  พญามังรายยุติการเคลื่อนไหวทางการเมืองที่จะแสดงท่าทีต่อต้านอำนาจมองโกลเพราะเกรงว่าจะถูกมองโกลโจมตีอีก พญามังรายรอดูท่าทีจนเห็นว่าอำนาจของมองโกลลดลง พญามังรายจึงได้สร้างเมืองเชียงใหม่ขึ้น เพื่อสร้างความเข้มแข็งและความมั่นคงของอาณาจักรให้เกิดขึ้น อีกทั้งการอัญเชิญพญางำเมืองและพญาร่วงมาร่วมตั้งเมืองเชียงใหม่นั้นยังแสดงให้เห็นถึงกลุ่มพันธมิตรของพญามังรายได้อย่างชัดเจน
ในสมัยของพญามังราย อาณาจักรล้านนามีความมั่งคั่งและสมบูรณ์เป็นอย่างมาก เนื่องจากพระองค์สามารถควบคุมเมืองตามที่ราบลุ่มแม่น้ำ และเส้นทางบกที่สำคัญได้เป็นผลสำเร็จ ได้แก่ ที่ราบลุ่มแม่น้ำสบกก ที่ราบลุ่มเมืองฝาง ที่ราบลุ่มแม่น้ำยม และที่ราบลุ่มแม่น้ำน่าน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง บริเวณลุ่มแม่น้ำปิงและลุ่มแม่น้ำวังมีความสำคัญทางยุทธศาสตร์เป็นอย่างมาก เนื่องจากเป็นเส้นทางในการติดต่อค้าขายกับเมืองทางใต้ได้ตลอดถึงละโว้และอโยธยา และมีเส้นทางทางบกที่สามารถเดินทางไปได้ทุกเมือง
พญามังรายสร้างความเจริญรุ่งเรืองให้กับอาณาจักรล้านนานานัปการตลอดพระชนม์ชีพของพระองค์ ทั้งทางด้านการขยายอาณาเขตให้กว้างขวาง โดยเลือกเอาเมืองใหญ่ที่เพียบพร้อมไปด้วยทรัพยากรธรรมชาติ และเป็นเส้นทางติดต่อกับหัวเมืองสำคัญ เป็นศูนย์กลางอำนาจ เพื่อประโยชน์ทางเศรษฐกิจ ทั้งด้านการเกษตรกรรมและการค้า ด้านกฎหมาย มีการใช้กฎหมาย “มังรายศาสตร์” ในการควบคุมดูแลสังคมให้เกิดความสงบสุข นอกจากนี้ยังทรงทำนุบำรุงพระพุทธศาสนา โดยการสร้างพุทธสถานและพระพุทธรูป ในอาณาจักรล้านนาอีกด้วย จึงถือได้ว่าอาณาจักรล้านนาในสมัยพญามังราย เป็นจุดเริ่มต้นของอาณาจักรล้านนาที่มีความเจริญรุ่งเรือง

พญามังรายสร้างเมืองเชียงใหม่และประทับอยู่เมืองนี้ตลอดพระชนม์ชีพของพระองค์ พญามังรายต้องอสุนีบาตที่ตลาดกลางเมืองเชียงใหม่สิ้นพระชนม์ใน พ.๑๘๖๐

วันอังคารที่ 28 กรกฎาคม พ.ศ. 2558

ชินกาลมาลีปกรณ์ : วรรณกรรมเพชรน้ำเอก บอกเล่าปฐมบทแห่งราชวงศ์มังราย

ชินกาลมาลีปกรณ์หรือชินกาลมาลีนี กล่าวว่า ฤษีวาสุเทพ และสุกกทันตฤษีสร้างเมืองหริภุญไชยเมื่อ พ.ศ. ๑๒๐๐ (ชินกาลมาลีนี, ๑๔๒ลักษณะและที่ตั้งของหริภุญไชยนั้น ตามตำนานกล่าวว่าเป็นรูปหอยสังข์เนื่องจากฤษีวาสุเทพใช้หอยสังข์วางแล้วใช้ไม้เท้าขีดเป็นรูปเมือง เมืองมีขอบเขต มีคูน้ำคันดิน เป็นรูปวงรี ด้านหนึ่งกว้างและเรียวเล็กลงไปอีกด้านหนึ่งดูคล้ายหอยสังข์ ตั้งอยู่ระหว่างแม่น้ำปิงและแม่น้ำกวง ซึ่งเป็นพื้นที่ที่ใช้สัญจรทางน้ำในการเดินทางเข้าออกเมืองไปสู่พื้นที่รอบนอกได้สะดวก เพราะแม่น้ำปิงเป็นเส้นทางคมนาคมสำคัญที่ใช้สำหรับเดินทางออกนอกภูมิภาค ทั้งเมืองในเขตตอนบนและเมืองท่าริมฝั่งทะเล ทางตอนล่างซึ่งหมายถึงเมืองต่าง ๆ ในแถบที่ราบลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา จากนั้นให้ทูตชื่อนายควายซึ่งเป็นทูตของพระฤๅษีวาสุเทพนำคน ๕๐๐ คน ลงไปทูลเชิญพระนางจามเทวีขึ้นมาปกครองหริภุญไชย พระนางจามเทวีเสด็จขึ้นมาปกครองเมืองหริภุญไชยพร้อมกับคณะสงฆ์ ๕๐๐ รูป และบริวารต่างความสามารถ ๑๔ จำพวก จำพวกละ ๕๐๐ คน
ภาพถ่ายทางอากาศเมืองลำพูน ยังคงปรากฏร่องรอยของเมืองรูป "หอยสังข์" ซึ่งได้รับอิทธิพลมาจากวัฒนธรรมทวารวดี

พระนางจามเทวีปกครองเมืองหริภุญไชยด้วยทศพิธราชธรรม ทำให้บ้านเมืองเจริญร่มเย็นเป็นสุข ผู้คนเดินทางไปมาค้าขายภายในอาณาจักรหริภุญไชยและเมืองที่อยู่รายรอบ มีพ่อค้าทั้งที่มาจากทางบกและทางเรือ ทางเหนือและทางใต้ (ทางใต้นั้นหมายถึงพ่อค้าจากอยุธยา) เข้ามาค้าขายในอาณาจักรหริภุญไชย รวมทั้งมีพ่อค้าจากหริภุญไชยขึ้นไปค้าขายที่เมืองฝางด้วย การค้าขายได้สร้างความมั่งคั่งให้อาณาจักรหริภุญไชยเป็นอย่างมาก
ครั้งนั้น มีหัวหน้าชาวลัวะนามว่าวิลังคราช ได้ยินข่าวว่าพระนางจามเทวีมีพระรูปลักษณะงดงาม ขุนวิลังคะเกิดความชอบใจหมายจะให้เป็นราชเทวีจึงได้ให้บริวารนำเครื่องบรรณาการ ๕๐๐ แซก (สาแหรก) ไปถวายแก่พระนางจามเทวี แต่พระนางจามเทวีไม่ตอบตกลง

ดูราท่านอำมาตย์ เราไป่ได้เห็นขุนสูแม้แต่สักหนเดียวเลยหนา ขุนผู้นั้นรูปร่างหน้าตาเป็นอย่างใดเล่า อำมาตย์ผู้นั้นจึงทูลว่า ขุนแห่งตูข้านั้นรูปร่างหน้าตาก็เหมือนดังตูข้านี้แหละ แล้วพระนางจึงตรัสว่า ผิว่าขุนแห่งสูมีหน้าตาเหมือนดังสูนี้แท้ อย่าว่าแต่มาเป็นผัวกูเลย แม้แต่มือกูก็ไม่ควรจักให้ถูกต้องดอกหนา (ตำนานมูลศาสนา, ๑๔๕)

ขุนวิลังคะโกรธในคำตอบที่ได้รับจึงยกทัพมาตีเมืองหริภุญไชยแต่การรบครั้งนั้นขุนวิลังคะก็พ่ายแพ้กลับไป (จากตำนานในส่วนนี้ ได้สะท้อนให้เห็นว่าชนพื้นเมืองของดินแดนแถบนี้คือชาวลัวะตำนานล้านนาหลายๆ เรื่อง กล่าวว่าบริเวณเชิงดอยสุเทพเป็นศูนย์กลางของชนเผ่าลัวะชาวลัวะนับถือดอยสุเทพว่าเป็นที่สิงสถิตของผีปู่แสะ ย่าแสะ ผีบรรพบุรุษของชาวลัวะชาวลัวะนับถือผีปู่แสะย่าแสะ ผู้พิทักษ์ดอยสุเทพ และรักษาเมืองเชียงใหม่ จึงมีพิธีเลี้ยงผีปู่แสะย่าแสะเป็นประจำทุกปี ร่องรอยความเชื่อนี้ยังมีสืบมา ชนเผ่าลัวะในเขตที่ราบลุ่มน้ำปิงมีความเจริญในระดับก่อรูปเป็นรัฐเล็กๆ ลักษณะทางสังคมมีความแตกต่าง ระหว่างชนชั้น คือแบ่งคนออกเป็นสองกลุ่ม ได้แก่ กลุ่มผู้ปกครองและกลุ่มผู้ใต้ปกครอง กลุ่มผู้ปกครองมีหัวหน้าเผ่าที่สืบเชื้อสายกันต่อมาเรียกว่า ซะมังเรื่องราวการแตกสลายของชนเผ่าลัวะเป็นผลมาจากการขยายความเจริญรุ่งเรืองจากเมืองละโว้มาสู่การสร้างเมืองหริภุญไชย พระนางจามเทวีเสด็จมาครองเมืองหริภุญไชยในบริเวณอิทธิพลของชนเผ่าลัวะ จึงเกิดการปะทะกันระหว่างวัฒนธรรมพื้นบ้าน และวัฒนธรรมที่เข้ามาใหม่จึงเกิดเป็นตำนานการต่อสู้ระหว่างขุนวิลังคะกับพระนางจามเทวี)
พระนางจามเทวีครองราชย์ได้ ๗ ปีก็สละราชสมบัติให้เจ้ามหันตยศพระราชโอรสที่มีพระชนมายุ ๗ พรรษาขึ้นครองราชย์สมบัติสืบต่อไป
เจ้ามหันตยศเสวยราชสมบัติ ตั้งอยู่ในทศพิธราชธรรม สั่งสอนเสนาอำมาตย์มิให้ผิดจารีตโบราณ ครั้นเมื่อพระองค์มีพระชนมายุ ๘๐ พรรษาก็สิ้นพระชนม์ จากนั้นก็ได้มีผู้สืบราชสมบัติกันต่อมา (ดูรายละเอียดเกี่ยวกับรายพระนามกษัตริย์ของเมืองหริภุญไชยศึกษาเพิ่มเติมได้จาก ตำนานมูลศาสนา, ๑๕๔)  กระทั่งในสมัยพญาอาทิตตราช กษัตริย์ลำดับที่ ๒๗ แห่งเมืองหริภุญไชยขึ้นปกครองเมือง ระยะนั้นเป็นช่วงเวลาที่มีศึกสงครามกับละโว้บ่อยครั้งแต่ด้วยพระบรมเดชานุภาพทำให้ศัตรูปราชัยทุกครั้งไป ครั้นเสร็จศึกสงครามพระองค์จึงได้ดำริสร้างปราสาทราชมณเฑียรไว้เป็นการเฉลิมพระเกียรติ ครั้นสร้างปราสาทราชมณเฑียรสำเร็จและโปรดฯ ให้มีการฉลองพระราชมณเฑียร เมื่อถึงเวลาที่พญาอาทิตตราชเสด็จลงพระบังคน ก็เกิดนิมิตประหลาด ดังปรากฏเรื่องราวในตำนานมูลศาสนาว่า “กาตัวนั้นมันก็บินมาเบื้องบนปล่อยอาจมให้ตกลงมาถูกเศียรพญาอาทิตตราช ๆ เข้าพระทัยว่าเป็นชิ้นเนื้อก็ทอดพระเนตรขึ้นไปเบื้องบนแล้วจึงตรัสว่า สูเอากา สูเอากา ในขณะเมื่ออ้าพระโอษฐ์ตรัสดังนั้น กาตัวนั้นซ้ำปล่อยลงมายังอาจมให้ตกลงในพระโอษฐ์อีกครั้งหนึ่ง แล้วกาตัวนั้นก็บินหนีไป”  พญาอาทิตตราชรับสั่งให้ชาวเมืองช่วยกันทำบ่วงคล้องจับกาตัวนั้น กาตัวนั้นก็มาติดบ่วงด้วยอานุภาพแห่งเทวดาบันดาลดล
ครั้นเมื่อได้กาตัวนั้นมาพญาอาทิตตราชหมายจะฆ่ากาตัวนั้น แต่ด้วยพระองค์ทรงตั้งอยู่ในเบญจศีลจึงระงับการฆ่ากาตัวนั้น บรรดาเสนาอำมาตย์กล่าวว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนั้นชะรอยว่าจะมีเหตุใหญ่อย่างใดอย่างหนึ่งบังเกิดขึ้นกับพญาอาทิตตราช พญาอาทิตตราชจึงให้โหราจารย์อธิบายสิ่งที่เกิดขึ้น โหราจารย์จึงกล่าวว่าสิ่งนี้เป็นนิมิตที่ดี ประโยชน์อันยิ่งใหญ่จะบังเกิดกับพญาอาทิตตราช และในคืนนั้นเทวดาก็เข้ามาทูลพญาอาทิตตราชด้วยการบันดาลให้เกิดพระสุบินว่า ถ้าพระองค์ต้องการทราบเหตุการณ์เรื่องนี้โดยเร็ว ให้พระองค์นำทารกที่เกิดได้ ๗ วันมาไว้อยู่ใกล้กาเป็นเวลา ๖ ปี ๑ เดือน เมื่อเด็กรู้ภาษากาแล้วให้พระองค์รับสั่งให้เด็กน้อยนั้นถามกา พระองค์ก็จะทรงทราบเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น
เมื่อกาลเวลาผ่านไปครบตามกำหนด ทารกน้อยเจริญเติบโตขึ้นก็รู้ภาษากา พญาอาทิตตราชมีรับสั่งให้เด็กน้อยถามกาดูเรื่องราวครั้งหนหลังที่สร้างความขุ่นเคืองพระทัย กาผู้เฝ้ารักษาพระธาตุได้ยินถามก็ได้อธิบายว่า ห้องพระบังคนของพระองค์นั้นภายใต้เป็นที่ประดิษฐานพระบรมธาตุแห่งองค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า เมื่อพญาอาทิตตราชทราบความดังนั้นจึงสั่งให้ขุดพระบรมธาตุขึ้นมาบูชาแล้วสั่งให้ก่อพระเจดีย์เพื่อประดิษฐานพระบรมธาตุนั้น

พญาอาทิตตราชก็ให้เอาหินมาเพื่อจักก่อให้เป็นเจดีย์ ครั้นได้หินมาบริบูรณ์แล้ว จึงให้หานักปราชญ์มาพิจารณาดูวันยามฉายาฤกษ์อันเป็นมงคลแล ครั้นได้ฤกษ์แล้ว พญาก็แบกหินอันเป็นมงคลนั้นมาก่อในท่ามกลาง เพื่อจักให้ก่อก่อนสำหรับเป็นที่รองโกศธาตุพระพุทธเจ้าทั้งหลายนั้นแล ครั้นพญาหยิบหินก้อนนั้นยอขึ้นก็ให้ประโคมดุริยดนตรีเป็นมงคลเสียงอึงมี่นัก เป็นดังเมฆอันพัดกันในท้องฟ้าฉะนั้น ก็เป็นอันดังกึกก้องทั่วเมืองหริภุญไชยทั้งมวลนั้น พญาก็ให้ก่อในที่หนึ่ง แล้วก็ให้ก่อเป็น ๔ เสาดังเสาปราสาทสูงได้ ๑๒ ศอก ให้เป็นประตูโค้งทั้ง ๔ ด้านอยู่ภายนอกโกศธาตุเจดีย์นั้นแล ในเมื่อธาตุเจดีย์เสร็จพร้อมทุกอันแล้ว พญาก็ให้ฉลองเจดีย์มีเครื่องพร้อมทุกอันกระทำบูชาอยู่ถ้วน ๗ วัน ๗ คืน ในวันถ้วน ๗ นั้นทรงถวายเครื่องอัฐบริขารเป็นทานแก่สงฆ์เจ้าทั้งหลายมากนักแล (ตำนานมูลศาสนา, ๑๗๙-๑๘๐)

เมื่อสิ้นรัชสมัยพญาอาทิตตราช เมืองหริภุญไชยก็มีผู้ปกครองสืบทอดเรื่อยมา ความรุ่งเรืองทางวัฒนธรรมและสังคมของเมืองหริภุญไชยที่สืบทอดมาอย่างยาวนาน หริภุญไชยเป็นศูนย์กลางความเจริญรุ่งเรืองมาช้านานและมีความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจด้วยมีที่ตั้งเป็นชุมทางการค้า สืบเนื่องมาจากการเจริญเติบโตของการค้าในเอเชีย ตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ ๑๗ เป็นต้นมา อีกทั้งการที่ราชวงศ์ซ่งใต้ของจีนเปลี่ยนนโยบายการค้าจากเดิมที่ต้องพึ่งพาอาศัยเรือต่างประเทศผ่านอาณาจักรศรีวิชัยซึ่งเป็นพ่อค้าคนกลางมาเป็นการติดต่อค้าขายโดยตรงกับเมืองท่าต่างๆ ซึ่งจุดนี้ถือเป็นการส่งเสริมให้หริภุญชัยมีบทบาทสำคัญทางการค้า เนื่องจากเมืองหริภุญไชยตั้งอยู่บริเวณที่ราบลุ่มแม่น้ำปิงตอนบนซึ่งเป็นเส้นทางผ่านของการขนส่งสินค้าจากเมืองตอนบนขึ้นไปลงสู่เมืองท่าตอนใต้ พญามังรายจึงต้องการเมืองหริภุญชัยที่มีความอุดมสมบูรณ์และความเจริญรุ่งเรืองนี้เป็นเมืองใต้ปกครองเพื่อเสริมฐานะความเป็นกษัตริย์ให้ยิ่งใหญ่มากยิ่งขึ้น
การขยายตัวทางการค้าถือว่าเป็นแรงกระตุ้นสำคัญที่ก่อกำเนิดอาณาจักรล้านนา เพราะการขยายตัวทางการค้า ก่อให้เกิดความต้องการขยายอาณาเขตเข้าครอบครองดินแดนที่มีความเจริญทางเศรษฐกิจ และยังเป็นชุมทางการค้า การสร้างเมืองบนเส้นทางการค้าเป็นสิ่งจำเป็น และศูนย์กลางของอาณาจักรจะเป็นชุมทางการค้าที่สำคัญที่สามารถเชื่อมโยงกิจการค้ากับเมืองต่างๆได้อย่างสะดวก
ความเจริญรุ่งเรืองทางด้านเศรษฐกิจ ในฐานะเมืองท่าการค้าตอนในนั้น ทำให้พญามังรายมีพระประสงค์จะยึดเมืองนี้ให้ได้
ตามตำนานเล่าว่าพญามังรายพระราชโอรสของพญาลาวเมง ผู้ครองเมืองเงินยางเชียงแสน กับพระนางเทพคำขยายหรือพระนางเทพคำข่าย เสด็จขึ้นครองราชย์ที่เมืองหิรัญนครเงินยางเชียงแสน เมื่อ พ..๑๘๐๕ พระองค์ทรงมีพระประสงค์ที่จะรวบรวมแคว้นต่างๆ ที่กระจัดกระจายและเป็นอิสระต่างๆ ให้รวมเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน โดยจะทรงขยายอำนาจลงมาทางใต้บริเวณลุ่มแม่น้ำปิง และพยายามขยายลงไปถึงบริเวณลุ่มน้ำเจ้าพระยาและสาละวิน บริเวณลุ่มแม่น้ำปิงขณะนั้นมีเมืองหริภุญไชยเป็นเมืองสำคัญและมีความอุดมสมบูรณ์มั่งคั่งทางเศรษฐกิจ พญามังรายมีพระประสงค์จะยึดครองเมืองหริภุญไชยไว้ในอำนาจจึงทรงย้ายเมืองหลวงหรือทรงมาสร้างเมืองอีกเมืองหนึ่ง คือ เมืองเชียงรายทางใต้ลงมาในราว พ.๑๘๐๖ แต่พระองค์พบว่าภูมิประเทศไม่เหมาะแก่การขยายอำนาจลงมาทางใต้ จึงทรงย้ายไปประทับที่เมืองฝางราว พ.๑๘๑๗ ที่เมืองนี้อยู่ไม่ไกลจากเมืองหริภุญไชยมากนัก พระองค์ทราบถึงความมั่นคงและความมั่งคั่งของเมืองหริภุญไชยดี ดังเช่นที่ปรากฏอยู่ในตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่กล่าวว่า

  เมื่อนั้น  ชาวพ่อค้าเมืองหริภุญชัยไปค้าขายถึงเมืองฝางหลายหมู่นัก  เจ้ามังรายจึงหาพ่อค้ามาถามดูว่าเมืองหริภุยชัยที่อยู่สูงโพ้นยังสัมฤทธีหรือบอสมฤทธีเป็นฉันใด พ่อค้าทั้งหลายไหว้ว่าเมืองหริภุญชัยที่ตูข้าอยู่โพ้นก็สมฤทธีด้วยเข้าของมากนัก พ่อค้าทางบกทางน้ำเที่ยวมาค้าชุเมือง ทางน้ำก็ถึงเมืองโยธิยาก็มาค้าถึง ยุท่าค้าขาย ชาวเมืองก็สมฤทธีเป็นดีมากนักแล พระยาซ้ำถามแถมว่าพระยาเจ้าเมืองสูยังสมฤทธีด้วยริผล ช้างม้าข้าคนสมบัติบ้านเมืองดั่งฤาชา พ่อค้าพังทลายไหว้ว่า พระยาเข้าในเมืองตูข้าโพ้มสมฤทธีด้วยช้างม้าข้าคนมากนัก ควรสนุกบริบูรณ์ด้วยสมบัติชุเยื่องดีหลีด่าย
พญามังรายได้ยินว่าเมืองหริภุญชัยสมฤทธีนัก ลวดบังเกิดโลภจิตมักใคร่ได้มาเป็นเมืองของตน จึงกำกับด้วยเสนาทั้งหลายว่า เราได้ข่าวเมืองหริภุญชัยสมฤทธีดีนักดีกว่าเมืองเราว่า อั้นนาฉันใดจักได้มาเป็นเมืองของเรา

พญามังรายจึงให้เสนาอำมาตย์ปรึกษาหาแผนการเข้าตีเมืองหริภุญไชย ครั้งนั้นอำมาตย์ผู้หนึ่งชื่ออ้ายฟ้าออกอุบายวางแผนชิงเมืองหริภุญไชยโดยอาสาไปเป็นไส้ศึกยังเมืองหริภุญไชย โดยใช้เวลาดำเนินการอยู่ ๒ ปีเศษ (ตำนานสิบห้าราชวงศ์ฉบับสอบชำระ, ๓๙-๔๑) อ้ายฟ้าสามารถทำให้ประชาชนในเมืองนี้ไม่พอใจพญายีบา กษัตริย์ของตนโดยอ้ายฟ้าดำเนินกลวิธีต่างๆ หลายวิธี เช่น เกณฑ์แรงงานอย่างหนักในการไปขุดเหมืองชลประทาน ที่เรียกว่า เหมืองอ้ายฟ้าหรือเหมืองแข็ง เกณฑ์ประชาชนตัดไม้ลากไม้ในฤดูฝนมาทำคุ้มที่ประทับของพญายีบา ทำให้ไร่นาของประชาชนได้รับความเสียหายมาก นอกจากนี้อ้ายฟ้ายังได้กราบทูลให้พญายีบาห้ามประชาชนเข้ามาร้องทุกข์กับกษัตริย์โดยตรงดังเช่นที่เคยปฏิบัติมา ให้ทุกคนติดต่อร้องทุกข์กับอ้ายฟ้า แล้วอ้ายฟ้าก็ตัดสินไม่ถูกต้องตามทำนองคลองธรรม ทำให้ประชาชนได้รับความเดือดร้อนมาก
อ้ายฟ้าได้กล่าวกับประชาชนว่า ทุกสิ่งทุกอย่างที่ตนทำไปนั้นเป็นบัญชาจากพญายีบาทั้งสิ้น ประชาชนจึงไม่ชอบพญายีบามาก เมื่อมีศึกพญามังรายมาประชิด ประชาชนจึงไม่กระตือรือร้นจะช่วยรบกับผู้ปกครอง อีกทั้งอ้ายฟ้าได้วางแผนลวงให้กองทัพของพญายีบาเข้ามาเสริมทัพทางด้านหน้าแล้วให้พญามังรายยกทัพเข้าตีทางด้านหลัง จึงทำให้พญามังรายสามารถตีเมืองหริภุญไชยได้สำเร็จเมื่อ พ.. ๑๘๒๔
จากนั้น ๒ ปีถัดมา พญามังรายก็สถาปนาอ้ายฟ้าขึ้นเป็นพญาและได้เวนเมืองหริภุญไชยให้อ้ายฟ้าปกครองต่อไป

เจ้าพญามังรายก็เข้าป่นเอาเมืองละพูนได้แล้วเข้านั่งเสวยเมืองละพูน ในปีรวงไส้ สกราชได้ ๖๔๓ ตัว เดือน ๘ ออก ๔ ค่ำ (ตรงกับวันที่ ๒๓ เมษายน ๑๘๒๔) ยามกองงาย ยามนั้นอายุเข้ามังรายได้ ๔๓ ปีแล เจ้าอยู่เสวยเมืองละพูนด้วยสุขสวัสดีก็มีวันนั้นแล ทีนี้จักจาด้วยราชวงศ์กินเมืองละพูนตั้งแต่นางจามเทวีลำดับมาเถิงพญาบาได้ ๒๕ เช่นพญาแล อิโต ปถายอัปปรภาเค แต่นั้นเมือหน้าเชื้อชาติพญาลาว เป็นต้นว่าพญามังรายเป็นเจ้าเมืองหริภุญไชยแล คันว่าเจ้าพญามังรายได้เข้าอยู่เสวยราชสมบัติในเมืองละพูนแล้วก็หื้อขืนลูกเมียครอบครัวข้าวของเงินคำแก่อ้ายฟ้า แล้วซ้ำหื้อประทานข้าวของเงินคำยิ่งกว่าเก่าหั้นแล อยู่ลูนได้ ๒ ปี เถิงปีก่าเม็ด สกราช ๖๔๕ ตัว (พ.ศ.๑๘๒๖) เจ้าพญามังรายปลงบ้านเวนเมืองละพูนหื้นขุนฟ้าเป็นพญากินเมืองละพูน (ตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่, ๓๒)

พญามังรายได้เมืองหริภุญไชยแล้ว พระองค์ประทับอยู่ ๒ ปีก็ทรงแต่งตั้งอ้ายฟ้าเป็นพญาปกครองเมืองหริภุญไชยพญามังรายเสด็จไปตั้งเมืองใหม่ชื่อเมืองชะแวซึ่งอยู่ด้านตะวันออกเฉียงเหนือทางฝ่ายพญายีบาอพยพหนีมายังเมืองเขลางคนคร ไปอาศัยอยู่กับพญาเบิกพระราชโอรส ต่อมา ใน พ.ศ. ๑๘๓๘ พญามังรายทราบข่าวว่าพญาเบิกจะยกทัพไปตีเมืองหริภุญไชยคืน พญามังรายจึงแจ้งให้ขุนครามพระราชโอรสที่ครองเมืองเชียงรายทราบเพื่อจัดเตรียมกองทัพไว้สู้รบกองทัพพญาเบิก ครั้นเมื่อเกิดสงคราม ขุนครามชนช้างต่อสู้กับพญาเบิก ช้างของขุนครามแทงงัดช้างของพญาเบิก พญาเบิกเสียหลักโดนนายกลางช้างของขุนครามแทงหอกเข้าใส่   ตัวพญาเบิกหลบหนีกลับเขลางคนครแต่ไม่ทัน ถูกจับได้และถูกประหารที่ขุนตาล  ส่วนพญายีบาหนีไปพึ่งพญาพิษณุโลก เมืองสองแคว ประทับอยู่ที่เมืองสองแควจนสิ้นพระชนม์ เมื่อนั้น ขุนครามก็ยกพลเข้าสู่เขลางคนคร ตีกลองอุ่นเมืองประกาศยุติสงครามแล้วแต่งตั้งให้ขุนไชยเสนาเป็นผู้รั้งเมืองและสร้างเขลางคนครขึ้นใหม่ ผนวกเขลางคนครเข้าเป็นส่วนหนึ่งของอาณาจักรล้านนา
ขุนไชยเสนาสร้างเขลางคนครขึ้นใหม่ เมื่อปีฉลู พ.ศ.๑๘๔๕  อยู่ถัดจากเขลางคนครเดิมลงไปทางทิศใต้ กำแพงเมืองก่อด้วยอิฐ มีประตูเมืองที่สำคัญได้แก่ ประตูเชียงใหม่ ประตูนาสร้อย ประตูปลายนา โบราณสถานที่สำคัญได้แก่ วัดปลายนาวัดเชียงภูมิ และในระยะต่อมาได้รวมเขลางคนครทั้งสองแห่งเข้าด้วยกัน สงครามในครั้งนั้นจึงนับว่าเป็นการสิ้นสุดผู้ปกครองเมืองหริภุญไชยจากเชื้อสายของราชวงศ์จามเทวีด้วย

ชุมชนสมัยประวัติศาสตร์จากตำนานต่างๆ

การศึกษาเรื่องราวยุคก่อนประวัติศาสตร์ของอาณาจักรล้านนานั้นไม่สามารถทราบเรื่องราวที่ต่อเนื่องกันได้ ทำได้เพียงคาดคะเนจากหลักฐานทางโบราณคดีเพียงเท่านั้น ไม่มีหลักฐานอื่นๆ ที่จะช่วยยืนยันเรื่องราวความเป็นมาในด้านอื่นได้อีก จึงทำให้ช่วงระยะเวลาดังกล่าวขาดตอนไป จนกระทั่งเข้าสู่ยุคประวัติศาสตร์ที่มีหลักฐานเป็นลายลักษณ์อักษรให้ศึกษาค้นคว้า จึงทำให้ทราบประวัติความเป็นมาของดินแดนแถบนี้ได้ว่าราวพุทธศตวรรษที่ ๑๓ เกิดเป็นเมืองหริภุญไชยขึ้น  และเรื่องราวต่างๆ ในดินแดนแถวนี้ก็มีความชัดเจนมากขึ้นตามลำดับ
ก่อนที่จะมีการสถาปนาอาณาจักรล้านนาขึ้นนั้นได้มีบ้านเมืองและชุมชนขนาดใหญ่เกิดขึ้นแล้ว อาทิ เมืองหิรัญนครเงินยางเชียงแสน เมืองพะเยา เมืองหริภุญไชย และยังได้มีการค้นพบเมืองเล็กๆ อีกจำนวนมากตามลุ่มน้ำต่างๆ เช่น เวียงฝาง เวียงปรึกษา เวียงสีทวง เวียงพางคำ เวียงสุทโธ เวียงห้อ เวียงมะลิกา และเวียงท่ากาน
เมืองต่างๆ เหล่านี้นอกจากจะมีหลักฐานทางโบราณคดีปรากฏอย่างชัดเจนแล้ว ยังมีข้อมูลจากเอกสารประเภทตำนานและพงศาวดาร ที่กล่าวถึงการตั้งชุมชนเผ่าไททางตอนบนของภาคเหนือซึ่งในสมัยแรกนั้น มีผู้นำสำคัญ ๒ ราชวงศ์ คือ ราชวงศ์ไทยเมืองของพระเจ้าสิงหนวัติกุมารและราชวงศ์ลวจังกราช เนื้อหามีอยู่ในตำนานพื้นเมืองของล้านนาหลายเรื่อง อาทิ ตำนานสิงหนวัติกุมาร พงศาวดารเมืองเงินยางเชียงแสน ตำนานสุวรรณโคมคำ
ตามตำนานกล่าวว่า ราชวงศ์สิงหนวัติกุมาร มีราชบุตรชื่อ สิงหนวัติกุมาร ได้อพยพผู้คนมาจากเมืองไทยเทศเมื่อมหาศักราช ๑๗ (ตอนต้นพุทธกาลมาตั้งบ้านเมืองใกล้กับแม่น้ำโขงและไม่ไกลจากเมืองสุวรรณโคมคำมากนัก เมืองใหม่ชื่อนาคพันธุ์สิงหนวัตินคร เมืองนาคพันธุ์ฯ นี้ได้เรียกชื่ออีกอย่างหนึ่งว่า โยนกนครไชยบุรีศรีช้างแสน เมืองนี้มีกษัตริย์ปกครองสืบมาครั้นถึง พ..๑๕๔๗ มีชาวบ้านจับปลาไหลเผือกได้ ลำตัวโตขนาดต้นตาล ยาวประมาณ ๗ วา เมื่อฆ่าแล้วแจกจ่ายให้ผู้คนในเมืองได้นำไปประกอบอาหารรับประทาน ในคืนนั้น เมืองนี้ได้เกิดอุทกภัย ฟ้าคะนอง แผ่นดินไหว และเมืองนี้ก็จมหายกลายเป็นหนองน้ำไป ชาวเมืองที่ไม่ประสบภัยได้ร่วมใจกันสร้างเมืองใหม่ขึ้นชื่อ เวียงปรึกษา และนับว่าเป็นการสิ้นสุดแห่งราชวงศ์สิงหนวัติ
ส่วนราชวงศ์ลวจังกราชนั้น ตามตำนานเล่าว่า ประมาณ พ.๑๑๘๑ (ศักราชในตำนานแต่ละฉบับไม่ตรงกัน) มีการสร้างเมืองขึ้นบริเวณดอยตุง (อำเภอเชียงแสน จังหวัดเชียงราย) โดยในช่วงแรกที่สร้างเมืองนั้นยังไม่มีผู้ปกครองอย่างชัดเจน ครั้นเมื่อพญาอนิรุทธได้เชิญเจ้าเมืองทุกเมืองไปประชุมตัดศักราช เมืองแห่งนี้ไม่มีกษัตริย์ที่จะไปร่วมทำการตัดศักราช ประชาชนในเมืองจึงทูลขอให้พระอินทร์ส่งกษัตริย์มาปกครองที่เมืองนี้  พญาลวจังกราช  (สันนิษฐานว่าพญาลวจังกราชนั้น อาจจะเป็นชาวพื้นเมืองในเขตดอยตุง ตามตำนานเรื่องปู่เจ้าลาวจก ) รับบัญชาจากพระอินทร์ลงมาปกครองเมืองหิรัญนครเงินยางเชียงแสน พญาลวจังกราชได้เสด็จลงมาจากสวรรค์ พร้อมทั้งมเหสีและบริวารทั้งหลายไต่ตามบันไดเงินลงมาบริเวณดอยตุง ชาวบ้านจึงพร้อมใจให้เป็นผู้ปกครองเมืองและมีการสถาปนานามเมืองขึ้นว่า เมืองหิรัญนครเงินยางเชียงแสน และมีกษัตริย์ปกครองสืบมาหลายพระองค์จนถึงพญาลาวเมง พระราชบิดาของพญามังราย ผู้สถาปนาอาณาจักรล้านนา ซึ่งเรื่องนี้มีปรากฏใน ตำนานเมืองเงินยางเชียงแสน
นอกจากนี้ยังพบว่ามีเมืองพะเยาซึ่งเป็นเมืองเก่าที่สำคัญอีกเมืองหนึ่ง ตามเอกสารตำนานต่างๆ เรียกชื่อว่า ภูกามยาว เรื่องราวของเมืองนี้ปรากฏเรื่องราวในตำนานเมืองพะเยา ฉบับวัดศรีโคมคำ ตำนานเมืองพะเยา ฉบับหอสมุดแห่งชาติ ประชุมพงศาวดารภาค ๖๑ และมีข้อมูลจากศิลาจารึกสุโขทัยหลักที่สอง ปรากฏชื่อเมืองพะเยาด้วยดังข้อความว่า

เมืองใต้ออกพ่อขุนนำถุม เบื้องตะวันออกเถิงเบื้องหัวนอนเถิงลุนคาขุนคาขุนด่าน … เบื้องในหรดีถึงฉอด เวียงเหล็ก … เบื้องตะวันตกเถิง …ลำพูน … บู .. เบื้องพายัพถึงเชียงแสนและพะเยา … ลาว … 

ตามตำนานเมืองพะเยา กล่าวว่าเมืองนี้สร้างขึ้นโดยพ่อขุนจอมธรรมซึ่งเป็นราชบุตรของพ่อขุนลาวเงินหรือขุนเงินแห่งเมืองหิรัญนครเงินยางเชียงแสน พ่อขุนจอมธรรมได้อพยพประชาชนมาสร้างเมืองพะเยา และสืบสายพระราชวงศ์ปกครองเรื่อยมา กษัตริย์พระองค์สำคัญอีกพระองค์หนึ่งของพะเยาเป็นที่รู้จักของปัจจุบันดี คือ พญางำเมือง ซึ่งตามตำนานเล่าว่าพระองค์เป็นพระสหายของพญามังราย และได้ทรงมาร่วมสร้างเมืองเชียงใหม่ด้วย
นอกจากพญางำเมืองแล้ว ตามตำนานต่างๆ ได้กล่าวถึงพญาเจืองหรือขุนเจือง ผู้นำแห่งเมืองพะเยาผู้มีความสามารถมาก
ในสมัยของพระองค์ดินแดนพะเยาได้ขยายออกไปอย่างกว้างขวางถึงสิบสองพันนา เวียดนาม (แกว) ล้านช้าง สมัยของพระองค์เป็นสมัยสำคัญอีกสมัยหนึ่ง นอกจากนี้เมืองพะเยายังมีความเจริญทางศิลปกรรม ได้พบศิลปวัตถุจำนวนมากที่พะเยา เรียกว่า ศิลปะสกุลช่างพะเยา และได้พบศิลาจารึกเป็นจำนวนมากอีกด้วย
นอกจากเมืองต่างๆ ดังกล่าวนามข้างต้นแล้ว บริเวณลุ่มแม่น้ำปิงมีชุมชนสำคัญอีกชุมชนหนึ่งที่มีความเจริญรุ่งเรืองและมีวิวัฒนาการสืบต่อกันมาเป็นเวลานานคือ เมืองหริภุญไชย หรือลำพูน มีเอกสารหลายเรื่องที่กล่าวถึงเมืองนี้ ได้แก่ ตำนานลำพูน ตำนานพระธาตุหริภุญไชย จามเทวีวงศ์ ตำนานมูลศาสนา และชินกาลมาลีปกรณ์
พระธาตุหริภุญไชย

ตำนานการเกิดเมืองหริภุญไชยหรือการสร้างเมืองหริภุญไชยที่เป็นที่รู้จักกันอย่างแพร่หลาย คือ ตำนานพระธาตุหริภุญไชยซึ่งเป็นตำนานทางพุทธศาสนา กล่าวถึงการเสด็จมาของพระพุทธเจ้ายังพื้นที่แห่งนี้แล้วทรงมีพุทธทำนายว่าภายหน้าจะเกิดบ้านเมืองใหญ่ขึ้น มีเจดีย์ในพุทธศาสนาไว้กราบไหว้บูชา ตำนานกล่าวว่า 

พระพุทธเจ้าเลียบแม่น้ำระมิงคือว่าม่พิงขึ้นมาภายเหนือเถิงอุตรถานที่นี้ฮู้ว่าจักเป็นที่ตั้งสุวัณณเจดีย์แห่งนั้นแล้ว พระพุทธเจ้าก็ปรารภเพื่อว่าจักนั่งในขณะอันนั้นหินก้อนหนึ่งก็บุแผ่นดินออกมาตั้งอยู่ พระพุทธเจ้าวางบาตรไว้แล้วก็นั่งอยู่เหนือก้อนนั้น ในกาลนั้นชมพูนาคราชก็ออกมาอุปฐากพระพุทธเจ้า พญากาเผือกก็ออกมาอุปฐากพระพุทธเจ้า ลัวะพรานป่าผู้หนึ่งหื้อหมากสมอเป็นทานแก่พระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าสันหมากสมอแล้วซัดกะดูกหมากสมอตกลงเหนือแผ่นดิน กะดูกหมากสมออันนั้นก็แวดวัดผัด ๓ รอบพระพุทธเจ้ารู้เหตุอันนั้นแล้วแย้มไค่หัวหื้อปรากฏ มหาอานนท์ถามเหตุอันนั้นเซิ่งพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าทำนายว่า ดูราอานนท์ เมื่อตถาคตนิพพานแล้วช้านานฐานะที่นี้จักเป็นมหานครอันหนึ่งชื่อว่าเมืองหริภุญไชยบุรี เหตุพระตถาคตได้สันหมากสมอในฐานะที่นี้พระพุทธเจ้าและตนก่อเจติยคำและหลัง และที่อันตถาคตนั่งนี้จักเป็นที่ตั้งสุวัณณเจดีย์คำแห่งตถาคตนิพพานไปแล้วธาตุกะหม่อมธาตุดูกอกธาตุดูกนิ้วมือธาตุย่อยตถาคตเต็มบาตรหนึ่งก็ตักมาตั้งอยู่ในฐานะที่นี้เมื่อใดพรานป่าผู้อันหื้อหมากสมอเป็นทานแก่ตถาคตและเกิดมาเป็นพญาอาทิตยราชเสวยเมืองหิรัญภุญไชยที่นี้ดั่งอั้น (ตำนานพระธาตุหริภุญไชย, ๗๙-๘๐.)


นอกจากตำนานพระธาตุหริภุญไชยซึ่งเป็นตำนานทางพุทธศาสนาแล้วยังพบว่ามีพงศาวดารเกี่ยวกับเมืองหริภุญไชย อาทิ จามเทวีวงศ์ ตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่ ตำนานมูลศาสนา ชินกาลมาลีปกรณ์ เอกสารเหล่านี้ได้กล่าวถึงตำนานการสร้างเมืองหริภุญไชยไว้เช่นกันแต่ข้อมูลหรือช่วงระยะเวลาที่ปรากฏในเอกสารนั้นจะแตกต่างกันจึงต้องเลือกศึกษาอย่างละเอียดจากหลักฐานทางโบราณคดีที่ขุดค้นพบประติมากรรมรูปกวางหมอบซึ่งเป็นวัตถุทางพุทธศาสนาที่นิยมสร้างในวัฒนธรรมทวารวดีราวพุทธศตวรรษที่ ๑๓ – ๑๔ จึงทำให้ชินกาลมาลีปกรณ์ซึ่งมีเนื้อหาบางส่วนเกี่ยวกับการสร้างเมืองหริภุญไชยที่ระบุปีที่สร้างไว้ใกล้เคียงกับอายุของหลักฐานทางโบราณคดีเป็นเอกสารหรือตำนานที่มีความน่าเชื่อถือที่สุดในบรรดาตำนานทั้งหมด

ชุมชนสมัยก่อนประวัติศาสตร์จากหลักฐานทางโบราณคดี

บริเวณพื้นที่ล้านนาที่เคยเป็นอาณาจักรล้านนาซึ่งปัจจุบันประกอบด้วยจังหวัดสำคัญ ๘  จังหวัดในภาคเหนือของไทย  ได้แก่ เชียงใหม่ ลำพูน ลำปาง  เชียงราย  แพร่  พะเยา  และแม่ฮ่องสอนนั้น เคยเป็นชุมชนที่มีผู้คนอาศัยมาเป็นเวลาอันยาวนานตั้งแต่ยุคก่อนประวัติศาสตร์และมีพัฒนาการทางด้านสังคมมาตามลำดับ จากการสำรวจทางโบราณคดีพบร่องรอยกิจกรรมของมนุษย์ที่เก่าที่สุดจากหลักฐานที่พบในพื้นที่จังหวัดลำปาง มีทั้งเครื่องมือหินกะเทาะแบบหยาบและชิ้นส่วนกะโหลกของมนุษย์ สันนิษฐานว่าเป็นชิ้นส่วนของมนุษย์กลุ่มโฮโม อิเรคตัส (Homo erectus) มีอายุประมาณ ๕๐๐,๐๐๐ ปี การอยู่อาศัยของมนุษย์กลุ่มนี้อาจต่อเนื่องกันมายาวนานจากยุคไพลสโตซีน (Pleistocene) ที่มนุษย์ใช้เครื่องมือหินกะเทาะเรื่อยมาจนถึงยุคเครื่องมือหินขัดและยุคโลหะ นอกจากนี้ยังพบแหล่งโบราณคดีเพิงผาถ้ำลอด อำเภอปางมะผ้า ที่มีอายุประมาณ ๓๒,๐๐๐ปี และโลงไม้ที่ปรากฏในแหล่งโบราณคดีของจังหวัดแม่ฮ่องสอนอายุราว ๑๑,๑๐๐ ปี  จึงอาจกล่าวได้ว่าช่วงอายุก่อนสมัยประวัติศาสตร์บริเวณพื้นที่ของอาณาจักรล้านนานั้น มีอายุราว ๓๒,๐๐๐-๑๑,๐๐ ปีมาแล้ว
 
ภาพเขียนสีำก่อนประวัติศาสตร์ที่ประตูผา จังหวัดลำปาง
ชุมชนก่อนสมัยประวัติศาสตร์จากหลักฐานทางโบราณคดี
หลักฐานทางโบราณคดีที่สำรวจพบในพื้นที่ต่างๆ แสดงให้เห็นถึงพัฒนาการของยุคก่อนประวัติศาสตร์ของชุมชนในเมืองต่างๆ ได้เป็นอย่างดีก่อนที่จะมีการสถาปนาอาณาจักรล้านนาขึ้น จากการสำรวจแหล่งโบราณคดีต่างๆ ในอำเภอปาย อำเภอปางมะผ้า และอำเภอขุนยวมทำให้ทราบว่ามีการตั้งหลักแหล่งของมนุษย์อยู่ในบริเวณนี้มาตั้งแต่สมัยไพลสโตซีน  ตอนปลายและมีพัฒนาการมาจนถึงสมัยโฮโลซีน (Holocene) ตอนปลายเหมือนที่จังหวัดลำปาง อีกทั้งที่อำเภอปางมะผ้ามีการค้นพบโครงกระดูกของมนุษย์ยุคก่อนปัจจุบัน โฮโม ซาเปียนส์ (Homo sapiens) และเครื่องมือเครื่องใช้หินกะเทาะ รวมถึงเศษภาชนะดินเผาที่มีการตกแต่งลวดลายเชือกทาบและลายขูดขีด ร่องรอยการตั้งถิ่นฐานของคนยุคก่อนประวัติศาสตร์ในดินแดนล้านนานั้น ในระยะแรกมนุษย์จะอาศัยถ้ำและเพิงผาเป็นที่อยู่อาศัย ต่อมาจึงมีการพัฒนาทางด้านวิถีการดำรงชีพจึงย้ายมาสู่การอยู่อาศัยในพื้นที่โล่งบนดอย สันเขาหรือริมน้ำ ในช่วงวัฒนธรรมยุคโลหะ พบร่องรอยของโลงไม้ และหลักฐานทางโบราณคดีจำนวนมากในอำเภอปางมะผ้า  แหล่งโบราณคดีที่พบส่วนใหญ่เป็นหลุมฝังศพ ถ้ำจากเดิมที่เคยใช้เป็นที่อยู่อาศัยถูกเปลี่ยนกลายเป็นที่ฝังศพเนื่องจากไม่พบแหล่งโบราณคดีหรือหลักฐานทางโบราณคดีที่บ่งชี้ว่าถ้ำต่างๆ ยังคงใช้เป็นที่อยู่อาศัย
บริเวณแหล่งโบราณคดีประตูผา จังหวัดลำปางเป็นแหล่งภาพเขียนสีเพิงผาที่ยาวที่สุดในประเทศไทย มีอายุราว ๓,๐๐๐ - ๒,๕๐๐ ปีมาแล้ว ภาพเขียนที่พบมีรูปมือเด็กและผู้ใหญ่ รูปสัตว์ได้แก่ วัว ม้า กวาง สุนัข นอกจากนี้ยังมีรูปคน รูปลายเรขาคณิต อยู่กันเป็นกลุ่ม มีทั้งหมด ๗ กลุ่ม ภาพเขียนสีเหล่านี้ได้บอกเล่าเรื่องราววิถีชีวิตและพิธีกรรมของผู้คนยุคก่อนประวัติศาสตร์ในพื้นที่เหล่านี้ บริเวณนี้เป็นที่ราบกว้างใหญ่ มีแม่น้ำปิงและลำน้ำสาขาไหลผ่านพื้นที่ ทำให้เกิดความอุดมสมบูรณ์เหมาะแก่การทำเกษตรกรรมและตั้งถิ่นฐานของมนุษย์ โดยเฉพาะลุ่มแม่น้ำกวงซึ่งเป็นลำน้ำสาขาที่สำคัญของแม่น้ำปิงตอนบนนั้นเป็นพื้นที่ที่พบหลักฐานการตั้งถิ่นฐานของมนุษย์มาตั้งแต่สมัยโลหะตอนปลาย อาทิ แหล่งโบราณคดีบ้านวังไฮ พบโบราณวัตถุหลายประเภท ได้แก่ โครงกระดูกมนุษย์ ภาชนะดินเผา แวดินเผา (อุปกรณ์สำหรับการปั่นฝ้าย) เครื่องมือหินกะเทาะ เครื่องมือเหล็ก เครื่องประดับประเภทลูกปัดหิน ลูกปัดแร่ หินอาเกต กำไลสำริด ต่างหูแก้ว แหล่งโบราณคดีบ้านสัมมะนะ  พบเศษภาชนะดินเผา ซึ่งสามารถนำมาต่อกันได้เป็นรูปทรงหม้อก้นกลมขนาดเล็กและขนาดใหญ่ หม้อขนาดใหญ่ขึ้นรูปด้วยมือ เนื้อดินค่อนข้างละเอียด ทำลวดลายเชือกทาบบริเวณก้นหม้อ ส่วนหม้อขนาดเล็กมีเนื้อหยาบ ลายเชือกทาบ และบางใบทำลวดลายขูดขีดเป็นเส้นคลื่นรอบตัวหม้อและไหล่หม้อ โดยผิวภาชนะมีการทำน้ำดินเคลือบและขัดมัน นอกจากนี้ยังพบภาชนะรูปทรงกระบอก ที่มีการขัดผิวดำ และทำลวดลายขูดขีดรอบ ๆ ภาชนะ และพบกระดูกมนุษย์ถูกฝังอยู่ร่วมกับภาชนะดินเผา นอกจากนี้ยังมีแหล่งโบราณคดีบ้านยางทองใต้ แหล่งโบราณคดีบ้านสันป่าค่า เป็นต้น
            แหล่งโบราณคดีและหลักฐานทางโบราณคดีเหล่านี้ชี้ให้เห็นว่าบริเวณลุ่มแม่น้ำกวงมีผู้คนอยู่อาศัยดำรงชีวิตแบบดั้งเดิมในสังคมเกษตรกรรม กระจายอยู่ตามแนวลำน้ำตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ ๑๑-๑๒ เป็นอย่างน้อย มีรูปแบบทางวัฒนธรรมร่วมกันเป็นของตนเอง และมีการติดต่อแลกเปลี่ยนกับชุมชนภายนอก และน่าจะเป็นกลุ่มมนุษย์ยุคก่อนประวัติศาสตร์รุ่นสุดท้ายในพื้นที่นี้ที่ตั้งหลักแหล่งถาวรในพื้นที่ลุ่มแม่น้ำเพื่ออำนวยแก่การทำการเกษตรกรรม