วันอังคารที่ 28 กรกฎาคม พ.ศ. 2558

ชุมชนสมัยก่อนประวัติศาสตร์จากหลักฐานทางโบราณคดี

บริเวณพื้นที่ล้านนาที่เคยเป็นอาณาจักรล้านนาซึ่งปัจจุบันประกอบด้วยจังหวัดสำคัญ ๘  จังหวัดในภาคเหนือของไทย  ได้แก่ เชียงใหม่ ลำพูน ลำปาง  เชียงราย  แพร่  พะเยา  และแม่ฮ่องสอนนั้น เคยเป็นชุมชนที่มีผู้คนอาศัยมาเป็นเวลาอันยาวนานตั้งแต่ยุคก่อนประวัติศาสตร์และมีพัฒนาการทางด้านสังคมมาตามลำดับ จากการสำรวจทางโบราณคดีพบร่องรอยกิจกรรมของมนุษย์ที่เก่าที่สุดจากหลักฐานที่พบในพื้นที่จังหวัดลำปาง มีทั้งเครื่องมือหินกะเทาะแบบหยาบและชิ้นส่วนกะโหลกของมนุษย์ สันนิษฐานว่าเป็นชิ้นส่วนของมนุษย์กลุ่มโฮโม อิเรคตัส (Homo erectus) มีอายุประมาณ ๕๐๐,๐๐๐ ปี การอยู่อาศัยของมนุษย์กลุ่มนี้อาจต่อเนื่องกันมายาวนานจากยุคไพลสโตซีน (Pleistocene) ที่มนุษย์ใช้เครื่องมือหินกะเทาะเรื่อยมาจนถึงยุคเครื่องมือหินขัดและยุคโลหะ นอกจากนี้ยังพบแหล่งโบราณคดีเพิงผาถ้ำลอด อำเภอปางมะผ้า ที่มีอายุประมาณ ๓๒,๐๐๐ปี และโลงไม้ที่ปรากฏในแหล่งโบราณคดีของจังหวัดแม่ฮ่องสอนอายุราว ๑๑,๑๐๐ ปี  จึงอาจกล่าวได้ว่าช่วงอายุก่อนสมัยประวัติศาสตร์บริเวณพื้นที่ของอาณาจักรล้านนานั้น มีอายุราว ๓๒,๐๐๐-๑๑,๐๐ ปีมาแล้ว
 
ภาพเขียนสีำก่อนประวัติศาสตร์ที่ประตูผา จังหวัดลำปาง
ชุมชนก่อนสมัยประวัติศาสตร์จากหลักฐานทางโบราณคดี
หลักฐานทางโบราณคดีที่สำรวจพบในพื้นที่ต่างๆ แสดงให้เห็นถึงพัฒนาการของยุคก่อนประวัติศาสตร์ของชุมชนในเมืองต่างๆ ได้เป็นอย่างดีก่อนที่จะมีการสถาปนาอาณาจักรล้านนาขึ้น จากการสำรวจแหล่งโบราณคดีต่างๆ ในอำเภอปาย อำเภอปางมะผ้า และอำเภอขุนยวมทำให้ทราบว่ามีการตั้งหลักแหล่งของมนุษย์อยู่ในบริเวณนี้มาตั้งแต่สมัยไพลสโตซีน  ตอนปลายและมีพัฒนาการมาจนถึงสมัยโฮโลซีน (Holocene) ตอนปลายเหมือนที่จังหวัดลำปาง อีกทั้งที่อำเภอปางมะผ้ามีการค้นพบโครงกระดูกของมนุษย์ยุคก่อนปัจจุบัน โฮโม ซาเปียนส์ (Homo sapiens) และเครื่องมือเครื่องใช้หินกะเทาะ รวมถึงเศษภาชนะดินเผาที่มีการตกแต่งลวดลายเชือกทาบและลายขูดขีด ร่องรอยการตั้งถิ่นฐานของคนยุคก่อนประวัติศาสตร์ในดินแดนล้านนานั้น ในระยะแรกมนุษย์จะอาศัยถ้ำและเพิงผาเป็นที่อยู่อาศัย ต่อมาจึงมีการพัฒนาทางด้านวิถีการดำรงชีพจึงย้ายมาสู่การอยู่อาศัยในพื้นที่โล่งบนดอย สันเขาหรือริมน้ำ ในช่วงวัฒนธรรมยุคโลหะ พบร่องรอยของโลงไม้ และหลักฐานทางโบราณคดีจำนวนมากในอำเภอปางมะผ้า  แหล่งโบราณคดีที่พบส่วนใหญ่เป็นหลุมฝังศพ ถ้ำจากเดิมที่เคยใช้เป็นที่อยู่อาศัยถูกเปลี่ยนกลายเป็นที่ฝังศพเนื่องจากไม่พบแหล่งโบราณคดีหรือหลักฐานทางโบราณคดีที่บ่งชี้ว่าถ้ำต่างๆ ยังคงใช้เป็นที่อยู่อาศัย
บริเวณแหล่งโบราณคดีประตูผา จังหวัดลำปางเป็นแหล่งภาพเขียนสีเพิงผาที่ยาวที่สุดในประเทศไทย มีอายุราว ๓,๐๐๐ - ๒,๕๐๐ ปีมาแล้ว ภาพเขียนที่พบมีรูปมือเด็กและผู้ใหญ่ รูปสัตว์ได้แก่ วัว ม้า กวาง สุนัข นอกจากนี้ยังมีรูปคน รูปลายเรขาคณิต อยู่กันเป็นกลุ่ม มีทั้งหมด ๗ กลุ่ม ภาพเขียนสีเหล่านี้ได้บอกเล่าเรื่องราววิถีชีวิตและพิธีกรรมของผู้คนยุคก่อนประวัติศาสตร์ในพื้นที่เหล่านี้ บริเวณนี้เป็นที่ราบกว้างใหญ่ มีแม่น้ำปิงและลำน้ำสาขาไหลผ่านพื้นที่ ทำให้เกิดความอุดมสมบูรณ์เหมาะแก่การทำเกษตรกรรมและตั้งถิ่นฐานของมนุษย์ โดยเฉพาะลุ่มแม่น้ำกวงซึ่งเป็นลำน้ำสาขาที่สำคัญของแม่น้ำปิงตอนบนนั้นเป็นพื้นที่ที่พบหลักฐานการตั้งถิ่นฐานของมนุษย์มาตั้งแต่สมัยโลหะตอนปลาย อาทิ แหล่งโบราณคดีบ้านวังไฮ พบโบราณวัตถุหลายประเภท ได้แก่ โครงกระดูกมนุษย์ ภาชนะดินเผา แวดินเผา (อุปกรณ์สำหรับการปั่นฝ้าย) เครื่องมือหินกะเทาะ เครื่องมือเหล็ก เครื่องประดับประเภทลูกปัดหิน ลูกปัดแร่ หินอาเกต กำไลสำริด ต่างหูแก้ว แหล่งโบราณคดีบ้านสัมมะนะ  พบเศษภาชนะดินเผา ซึ่งสามารถนำมาต่อกันได้เป็นรูปทรงหม้อก้นกลมขนาดเล็กและขนาดใหญ่ หม้อขนาดใหญ่ขึ้นรูปด้วยมือ เนื้อดินค่อนข้างละเอียด ทำลวดลายเชือกทาบบริเวณก้นหม้อ ส่วนหม้อขนาดเล็กมีเนื้อหยาบ ลายเชือกทาบ และบางใบทำลวดลายขูดขีดเป็นเส้นคลื่นรอบตัวหม้อและไหล่หม้อ โดยผิวภาชนะมีการทำน้ำดินเคลือบและขัดมัน นอกจากนี้ยังพบภาชนะรูปทรงกระบอก ที่มีการขัดผิวดำ และทำลวดลายขูดขีดรอบ ๆ ภาชนะ และพบกระดูกมนุษย์ถูกฝังอยู่ร่วมกับภาชนะดินเผา นอกจากนี้ยังมีแหล่งโบราณคดีบ้านยางทองใต้ แหล่งโบราณคดีบ้านสันป่าค่า เป็นต้น
            แหล่งโบราณคดีและหลักฐานทางโบราณคดีเหล่านี้ชี้ให้เห็นว่าบริเวณลุ่มแม่น้ำกวงมีผู้คนอยู่อาศัยดำรงชีวิตแบบดั้งเดิมในสังคมเกษตรกรรม กระจายอยู่ตามแนวลำน้ำตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ ๑๑-๑๒ เป็นอย่างน้อย มีรูปแบบทางวัฒนธรรมร่วมกันเป็นของตนเอง และมีการติดต่อแลกเปลี่ยนกับชุมชนภายนอก และน่าจะเป็นกลุ่มมนุษย์ยุคก่อนประวัติศาสตร์รุ่นสุดท้ายในพื้นที่นี้ที่ตั้งหลักแหล่งถาวรในพื้นที่ลุ่มแม่น้ำเพื่ออำนวยแก่การทำการเกษตรกรรม

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น