วันอังคารที่ 28 กรกฎาคม พ.ศ. 2558

ชินกาลมาลีปกรณ์ : วรรณกรรมเพชรน้ำเอก บอกเล่าปฐมบทแห่งราชวงศ์มังราย

ชินกาลมาลีปกรณ์หรือชินกาลมาลีนี กล่าวว่า ฤษีวาสุเทพ และสุกกทันตฤษีสร้างเมืองหริภุญไชยเมื่อ พ.ศ. ๑๒๐๐ (ชินกาลมาลีนี, ๑๔๒ลักษณะและที่ตั้งของหริภุญไชยนั้น ตามตำนานกล่าวว่าเป็นรูปหอยสังข์เนื่องจากฤษีวาสุเทพใช้หอยสังข์วางแล้วใช้ไม้เท้าขีดเป็นรูปเมือง เมืองมีขอบเขต มีคูน้ำคันดิน เป็นรูปวงรี ด้านหนึ่งกว้างและเรียวเล็กลงไปอีกด้านหนึ่งดูคล้ายหอยสังข์ ตั้งอยู่ระหว่างแม่น้ำปิงและแม่น้ำกวง ซึ่งเป็นพื้นที่ที่ใช้สัญจรทางน้ำในการเดินทางเข้าออกเมืองไปสู่พื้นที่รอบนอกได้สะดวก เพราะแม่น้ำปิงเป็นเส้นทางคมนาคมสำคัญที่ใช้สำหรับเดินทางออกนอกภูมิภาค ทั้งเมืองในเขตตอนบนและเมืองท่าริมฝั่งทะเล ทางตอนล่างซึ่งหมายถึงเมืองต่าง ๆ ในแถบที่ราบลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา จากนั้นให้ทูตชื่อนายควายซึ่งเป็นทูตของพระฤๅษีวาสุเทพนำคน ๕๐๐ คน ลงไปทูลเชิญพระนางจามเทวีขึ้นมาปกครองหริภุญไชย พระนางจามเทวีเสด็จขึ้นมาปกครองเมืองหริภุญไชยพร้อมกับคณะสงฆ์ ๕๐๐ รูป และบริวารต่างความสามารถ ๑๔ จำพวก จำพวกละ ๕๐๐ คน
ภาพถ่ายทางอากาศเมืองลำพูน ยังคงปรากฏร่องรอยของเมืองรูป "หอยสังข์" ซึ่งได้รับอิทธิพลมาจากวัฒนธรรมทวารวดี

พระนางจามเทวีปกครองเมืองหริภุญไชยด้วยทศพิธราชธรรม ทำให้บ้านเมืองเจริญร่มเย็นเป็นสุข ผู้คนเดินทางไปมาค้าขายภายในอาณาจักรหริภุญไชยและเมืองที่อยู่รายรอบ มีพ่อค้าทั้งที่มาจากทางบกและทางเรือ ทางเหนือและทางใต้ (ทางใต้นั้นหมายถึงพ่อค้าจากอยุธยา) เข้ามาค้าขายในอาณาจักรหริภุญไชย รวมทั้งมีพ่อค้าจากหริภุญไชยขึ้นไปค้าขายที่เมืองฝางด้วย การค้าขายได้สร้างความมั่งคั่งให้อาณาจักรหริภุญไชยเป็นอย่างมาก
ครั้งนั้น มีหัวหน้าชาวลัวะนามว่าวิลังคราช ได้ยินข่าวว่าพระนางจามเทวีมีพระรูปลักษณะงดงาม ขุนวิลังคะเกิดความชอบใจหมายจะให้เป็นราชเทวีจึงได้ให้บริวารนำเครื่องบรรณาการ ๕๐๐ แซก (สาแหรก) ไปถวายแก่พระนางจามเทวี แต่พระนางจามเทวีไม่ตอบตกลง

ดูราท่านอำมาตย์ เราไป่ได้เห็นขุนสูแม้แต่สักหนเดียวเลยหนา ขุนผู้นั้นรูปร่างหน้าตาเป็นอย่างใดเล่า อำมาตย์ผู้นั้นจึงทูลว่า ขุนแห่งตูข้านั้นรูปร่างหน้าตาก็เหมือนดังตูข้านี้แหละ แล้วพระนางจึงตรัสว่า ผิว่าขุนแห่งสูมีหน้าตาเหมือนดังสูนี้แท้ อย่าว่าแต่มาเป็นผัวกูเลย แม้แต่มือกูก็ไม่ควรจักให้ถูกต้องดอกหนา (ตำนานมูลศาสนา, ๑๔๕)

ขุนวิลังคะโกรธในคำตอบที่ได้รับจึงยกทัพมาตีเมืองหริภุญไชยแต่การรบครั้งนั้นขุนวิลังคะก็พ่ายแพ้กลับไป (จากตำนานในส่วนนี้ ได้สะท้อนให้เห็นว่าชนพื้นเมืองของดินแดนแถบนี้คือชาวลัวะตำนานล้านนาหลายๆ เรื่อง กล่าวว่าบริเวณเชิงดอยสุเทพเป็นศูนย์กลางของชนเผ่าลัวะชาวลัวะนับถือดอยสุเทพว่าเป็นที่สิงสถิตของผีปู่แสะ ย่าแสะ ผีบรรพบุรุษของชาวลัวะชาวลัวะนับถือผีปู่แสะย่าแสะ ผู้พิทักษ์ดอยสุเทพ และรักษาเมืองเชียงใหม่ จึงมีพิธีเลี้ยงผีปู่แสะย่าแสะเป็นประจำทุกปี ร่องรอยความเชื่อนี้ยังมีสืบมา ชนเผ่าลัวะในเขตที่ราบลุ่มน้ำปิงมีความเจริญในระดับก่อรูปเป็นรัฐเล็กๆ ลักษณะทางสังคมมีความแตกต่าง ระหว่างชนชั้น คือแบ่งคนออกเป็นสองกลุ่ม ได้แก่ กลุ่มผู้ปกครองและกลุ่มผู้ใต้ปกครอง กลุ่มผู้ปกครองมีหัวหน้าเผ่าที่สืบเชื้อสายกันต่อมาเรียกว่า ซะมังเรื่องราวการแตกสลายของชนเผ่าลัวะเป็นผลมาจากการขยายความเจริญรุ่งเรืองจากเมืองละโว้มาสู่การสร้างเมืองหริภุญไชย พระนางจามเทวีเสด็จมาครองเมืองหริภุญไชยในบริเวณอิทธิพลของชนเผ่าลัวะ จึงเกิดการปะทะกันระหว่างวัฒนธรรมพื้นบ้าน และวัฒนธรรมที่เข้ามาใหม่จึงเกิดเป็นตำนานการต่อสู้ระหว่างขุนวิลังคะกับพระนางจามเทวี)
พระนางจามเทวีครองราชย์ได้ ๗ ปีก็สละราชสมบัติให้เจ้ามหันตยศพระราชโอรสที่มีพระชนมายุ ๗ พรรษาขึ้นครองราชย์สมบัติสืบต่อไป
เจ้ามหันตยศเสวยราชสมบัติ ตั้งอยู่ในทศพิธราชธรรม สั่งสอนเสนาอำมาตย์มิให้ผิดจารีตโบราณ ครั้นเมื่อพระองค์มีพระชนมายุ ๘๐ พรรษาก็สิ้นพระชนม์ จากนั้นก็ได้มีผู้สืบราชสมบัติกันต่อมา (ดูรายละเอียดเกี่ยวกับรายพระนามกษัตริย์ของเมืองหริภุญไชยศึกษาเพิ่มเติมได้จาก ตำนานมูลศาสนา, ๑๕๔)  กระทั่งในสมัยพญาอาทิตตราช กษัตริย์ลำดับที่ ๒๗ แห่งเมืองหริภุญไชยขึ้นปกครองเมือง ระยะนั้นเป็นช่วงเวลาที่มีศึกสงครามกับละโว้บ่อยครั้งแต่ด้วยพระบรมเดชานุภาพทำให้ศัตรูปราชัยทุกครั้งไป ครั้นเสร็จศึกสงครามพระองค์จึงได้ดำริสร้างปราสาทราชมณเฑียรไว้เป็นการเฉลิมพระเกียรติ ครั้นสร้างปราสาทราชมณเฑียรสำเร็จและโปรดฯ ให้มีการฉลองพระราชมณเฑียร เมื่อถึงเวลาที่พญาอาทิตตราชเสด็จลงพระบังคน ก็เกิดนิมิตประหลาด ดังปรากฏเรื่องราวในตำนานมูลศาสนาว่า “กาตัวนั้นมันก็บินมาเบื้องบนปล่อยอาจมให้ตกลงมาถูกเศียรพญาอาทิตตราช ๆ เข้าพระทัยว่าเป็นชิ้นเนื้อก็ทอดพระเนตรขึ้นไปเบื้องบนแล้วจึงตรัสว่า สูเอากา สูเอากา ในขณะเมื่ออ้าพระโอษฐ์ตรัสดังนั้น กาตัวนั้นซ้ำปล่อยลงมายังอาจมให้ตกลงในพระโอษฐ์อีกครั้งหนึ่ง แล้วกาตัวนั้นก็บินหนีไป”  พญาอาทิตตราชรับสั่งให้ชาวเมืองช่วยกันทำบ่วงคล้องจับกาตัวนั้น กาตัวนั้นก็มาติดบ่วงด้วยอานุภาพแห่งเทวดาบันดาลดล
ครั้นเมื่อได้กาตัวนั้นมาพญาอาทิตตราชหมายจะฆ่ากาตัวนั้น แต่ด้วยพระองค์ทรงตั้งอยู่ในเบญจศีลจึงระงับการฆ่ากาตัวนั้น บรรดาเสนาอำมาตย์กล่าวว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนั้นชะรอยว่าจะมีเหตุใหญ่อย่างใดอย่างหนึ่งบังเกิดขึ้นกับพญาอาทิตตราช พญาอาทิตตราชจึงให้โหราจารย์อธิบายสิ่งที่เกิดขึ้น โหราจารย์จึงกล่าวว่าสิ่งนี้เป็นนิมิตที่ดี ประโยชน์อันยิ่งใหญ่จะบังเกิดกับพญาอาทิตตราช และในคืนนั้นเทวดาก็เข้ามาทูลพญาอาทิตตราชด้วยการบันดาลให้เกิดพระสุบินว่า ถ้าพระองค์ต้องการทราบเหตุการณ์เรื่องนี้โดยเร็ว ให้พระองค์นำทารกที่เกิดได้ ๗ วันมาไว้อยู่ใกล้กาเป็นเวลา ๖ ปี ๑ เดือน เมื่อเด็กรู้ภาษากาแล้วให้พระองค์รับสั่งให้เด็กน้อยนั้นถามกา พระองค์ก็จะทรงทราบเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น
เมื่อกาลเวลาผ่านไปครบตามกำหนด ทารกน้อยเจริญเติบโตขึ้นก็รู้ภาษากา พญาอาทิตตราชมีรับสั่งให้เด็กน้อยถามกาดูเรื่องราวครั้งหนหลังที่สร้างความขุ่นเคืองพระทัย กาผู้เฝ้ารักษาพระธาตุได้ยินถามก็ได้อธิบายว่า ห้องพระบังคนของพระองค์นั้นภายใต้เป็นที่ประดิษฐานพระบรมธาตุแห่งองค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า เมื่อพญาอาทิตตราชทราบความดังนั้นจึงสั่งให้ขุดพระบรมธาตุขึ้นมาบูชาแล้วสั่งให้ก่อพระเจดีย์เพื่อประดิษฐานพระบรมธาตุนั้น

พญาอาทิตตราชก็ให้เอาหินมาเพื่อจักก่อให้เป็นเจดีย์ ครั้นได้หินมาบริบูรณ์แล้ว จึงให้หานักปราชญ์มาพิจารณาดูวันยามฉายาฤกษ์อันเป็นมงคลแล ครั้นได้ฤกษ์แล้ว พญาก็แบกหินอันเป็นมงคลนั้นมาก่อในท่ามกลาง เพื่อจักให้ก่อก่อนสำหรับเป็นที่รองโกศธาตุพระพุทธเจ้าทั้งหลายนั้นแล ครั้นพญาหยิบหินก้อนนั้นยอขึ้นก็ให้ประโคมดุริยดนตรีเป็นมงคลเสียงอึงมี่นัก เป็นดังเมฆอันพัดกันในท้องฟ้าฉะนั้น ก็เป็นอันดังกึกก้องทั่วเมืองหริภุญไชยทั้งมวลนั้น พญาก็ให้ก่อในที่หนึ่ง แล้วก็ให้ก่อเป็น ๔ เสาดังเสาปราสาทสูงได้ ๑๒ ศอก ให้เป็นประตูโค้งทั้ง ๔ ด้านอยู่ภายนอกโกศธาตุเจดีย์นั้นแล ในเมื่อธาตุเจดีย์เสร็จพร้อมทุกอันแล้ว พญาก็ให้ฉลองเจดีย์มีเครื่องพร้อมทุกอันกระทำบูชาอยู่ถ้วน ๗ วัน ๗ คืน ในวันถ้วน ๗ นั้นทรงถวายเครื่องอัฐบริขารเป็นทานแก่สงฆ์เจ้าทั้งหลายมากนักแล (ตำนานมูลศาสนา, ๑๗๙-๑๘๐)

เมื่อสิ้นรัชสมัยพญาอาทิตตราช เมืองหริภุญไชยก็มีผู้ปกครองสืบทอดเรื่อยมา ความรุ่งเรืองทางวัฒนธรรมและสังคมของเมืองหริภุญไชยที่สืบทอดมาอย่างยาวนาน หริภุญไชยเป็นศูนย์กลางความเจริญรุ่งเรืองมาช้านานและมีความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจด้วยมีที่ตั้งเป็นชุมทางการค้า สืบเนื่องมาจากการเจริญเติบโตของการค้าในเอเชีย ตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ ๑๗ เป็นต้นมา อีกทั้งการที่ราชวงศ์ซ่งใต้ของจีนเปลี่ยนนโยบายการค้าจากเดิมที่ต้องพึ่งพาอาศัยเรือต่างประเทศผ่านอาณาจักรศรีวิชัยซึ่งเป็นพ่อค้าคนกลางมาเป็นการติดต่อค้าขายโดยตรงกับเมืองท่าต่างๆ ซึ่งจุดนี้ถือเป็นการส่งเสริมให้หริภุญชัยมีบทบาทสำคัญทางการค้า เนื่องจากเมืองหริภุญไชยตั้งอยู่บริเวณที่ราบลุ่มแม่น้ำปิงตอนบนซึ่งเป็นเส้นทางผ่านของการขนส่งสินค้าจากเมืองตอนบนขึ้นไปลงสู่เมืองท่าตอนใต้ พญามังรายจึงต้องการเมืองหริภุญชัยที่มีความอุดมสมบูรณ์และความเจริญรุ่งเรืองนี้เป็นเมืองใต้ปกครองเพื่อเสริมฐานะความเป็นกษัตริย์ให้ยิ่งใหญ่มากยิ่งขึ้น
การขยายตัวทางการค้าถือว่าเป็นแรงกระตุ้นสำคัญที่ก่อกำเนิดอาณาจักรล้านนา เพราะการขยายตัวทางการค้า ก่อให้เกิดความต้องการขยายอาณาเขตเข้าครอบครองดินแดนที่มีความเจริญทางเศรษฐกิจ และยังเป็นชุมทางการค้า การสร้างเมืองบนเส้นทางการค้าเป็นสิ่งจำเป็น และศูนย์กลางของอาณาจักรจะเป็นชุมทางการค้าที่สำคัญที่สามารถเชื่อมโยงกิจการค้ากับเมืองต่างๆได้อย่างสะดวก
ความเจริญรุ่งเรืองทางด้านเศรษฐกิจ ในฐานะเมืองท่าการค้าตอนในนั้น ทำให้พญามังรายมีพระประสงค์จะยึดเมืองนี้ให้ได้
ตามตำนานเล่าว่าพญามังรายพระราชโอรสของพญาลาวเมง ผู้ครองเมืองเงินยางเชียงแสน กับพระนางเทพคำขยายหรือพระนางเทพคำข่าย เสด็จขึ้นครองราชย์ที่เมืองหิรัญนครเงินยางเชียงแสน เมื่อ พ..๑๘๐๕ พระองค์ทรงมีพระประสงค์ที่จะรวบรวมแคว้นต่างๆ ที่กระจัดกระจายและเป็นอิสระต่างๆ ให้รวมเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน โดยจะทรงขยายอำนาจลงมาทางใต้บริเวณลุ่มแม่น้ำปิง และพยายามขยายลงไปถึงบริเวณลุ่มน้ำเจ้าพระยาและสาละวิน บริเวณลุ่มแม่น้ำปิงขณะนั้นมีเมืองหริภุญไชยเป็นเมืองสำคัญและมีความอุดมสมบูรณ์มั่งคั่งทางเศรษฐกิจ พญามังรายมีพระประสงค์จะยึดครองเมืองหริภุญไชยไว้ในอำนาจจึงทรงย้ายเมืองหลวงหรือทรงมาสร้างเมืองอีกเมืองหนึ่ง คือ เมืองเชียงรายทางใต้ลงมาในราว พ.๑๘๐๖ แต่พระองค์พบว่าภูมิประเทศไม่เหมาะแก่การขยายอำนาจลงมาทางใต้ จึงทรงย้ายไปประทับที่เมืองฝางราว พ.๑๘๑๗ ที่เมืองนี้อยู่ไม่ไกลจากเมืองหริภุญไชยมากนัก พระองค์ทราบถึงความมั่นคงและความมั่งคั่งของเมืองหริภุญไชยดี ดังเช่นที่ปรากฏอยู่ในตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่กล่าวว่า

  เมื่อนั้น  ชาวพ่อค้าเมืองหริภุญชัยไปค้าขายถึงเมืองฝางหลายหมู่นัก  เจ้ามังรายจึงหาพ่อค้ามาถามดูว่าเมืองหริภุยชัยที่อยู่สูงโพ้นยังสัมฤทธีหรือบอสมฤทธีเป็นฉันใด พ่อค้าทั้งหลายไหว้ว่าเมืองหริภุญชัยที่ตูข้าอยู่โพ้นก็สมฤทธีด้วยเข้าของมากนัก พ่อค้าทางบกทางน้ำเที่ยวมาค้าชุเมือง ทางน้ำก็ถึงเมืองโยธิยาก็มาค้าถึง ยุท่าค้าขาย ชาวเมืองก็สมฤทธีเป็นดีมากนักแล พระยาซ้ำถามแถมว่าพระยาเจ้าเมืองสูยังสมฤทธีด้วยริผล ช้างม้าข้าคนสมบัติบ้านเมืองดั่งฤาชา พ่อค้าพังทลายไหว้ว่า พระยาเข้าในเมืองตูข้าโพ้มสมฤทธีด้วยช้างม้าข้าคนมากนัก ควรสนุกบริบูรณ์ด้วยสมบัติชุเยื่องดีหลีด่าย
พญามังรายได้ยินว่าเมืองหริภุญชัยสมฤทธีนัก ลวดบังเกิดโลภจิตมักใคร่ได้มาเป็นเมืองของตน จึงกำกับด้วยเสนาทั้งหลายว่า เราได้ข่าวเมืองหริภุญชัยสมฤทธีดีนักดีกว่าเมืองเราว่า อั้นนาฉันใดจักได้มาเป็นเมืองของเรา

พญามังรายจึงให้เสนาอำมาตย์ปรึกษาหาแผนการเข้าตีเมืองหริภุญไชย ครั้งนั้นอำมาตย์ผู้หนึ่งชื่ออ้ายฟ้าออกอุบายวางแผนชิงเมืองหริภุญไชยโดยอาสาไปเป็นไส้ศึกยังเมืองหริภุญไชย โดยใช้เวลาดำเนินการอยู่ ๒ ปีเศษ (ตำนานสิบห้าราชวงศ์ฉบับสอบชำระ, ๓๙-๔๑) อ้ายฟ้าสามารถทำให้ประชาชนในเมืองนี้ไม่พอใจพญายีบา กษัตริย์ของตนโดยอ้ายฟ้าดำเนินกลวิธีต่างๆ หลายวิธี เช่น เกณฑ์แรงงานอย่างหนักในการไปขุดเหมืองชลประทาน ที่เรียกว่า เหมืองอ้ายฟ้าหรือเหมืองแข็ง เกณฑ์ประชาชนตัดไม้ลากไม้ในฤดูฝนมาทำคุ้มที่ประทับของพญายีบา ทำให้ไร่นาของประชาชนได้รับความเสียหายมาก นอกจากนี้อ้ายฟ้ายังได้กราบทูลให้พญายีบาห้ามประชาชนเข้ามาร้องทุกข์กับกษัตริย์โดยตรงดังเช่นที่เคยปฏิบัติมา ให้ทุกคนติดต่อร้องทุกข์กับอ้ายฟ้า แล้วอ้ายฟ้าก็ตัดสินไม่ถูกต้องตามทำนองคลองธรรม ทำให้ประชาชนได้รับความเดือดร้อนมาก
อ้ายฟ้าได้กล่าวกับประชาชนว่า ทุกสิ่งทุกอย่างที่ตนทำไปนั้นเป็นบัญชาจากพญายีบาทั้งสิ้น ประชาชนจึงไม่ชอบพญายีบามาก เมื่อมีศึกพญามังรายมาประชิด ประชาชนจึงไม่กระตือรือร้นจะช่วยรบกับผู้ปกครอง อีกทั้งอ้ายฟ้าได้วางแผนลวงให้กองทัพของพญายีบาเข้ามาเสริมทัพทางด้านหน้าแล้วให้พญามังรายยกทัพเข้าตีทางด้านหลัง จึงทำให้พญามังรายสามารถตีเมืองหริภุญไชยได้สำเร็จเมื่อ พ.. ๑๘๒๔
จากนั้น ๒ ปีถัดมา พญามังรายก็สถาปนาอ้ายฟ้าขึ้นเป็นพญาและได้เวนเมืองหริภุญไชยให้อ้ายฟ้าปกครองต่อไป

เจ้าพญามังรายก็เข้าป่นเอาเมืองละพูนได้แล้วเข้านั่งเสวยเมืองละพูน ในปีรวงไส้ สกราชได้ ๖๔๓ ตัว เดือน ๘ ออก ๔ ค่ำ (ตรงกับวันที่ ๒๓ เมษายน ๑๘๒๔) ยามกองงาย ยามนั้นอายุเข้ามังรายได้ ๔๓ ปีแล เจ้าอยู่เสวยเมืองละพูนด้วยสุขสวัสดีก็มีวันนั้นแล ทีนี้จักจาด้วยราชวงศ์กินเมืองละพูนตั้งแต่นางจามเทวีลำดับมาเถิงพญาบาได้ ๒๕ เช่นพญาแล อิโต ปถายอัปปรภาเค แต่นั้นเมือหน้าเชื้อชาติพญาลาว เป็นต้นว่าพญามังรายเป็นเจ้าเมืองหริภุญไชยแล คันว่าเจ้าพญามังรายได้เข้าอยู่เสวยราชสมบัติในเมืองละพูนแล้วก็หื้อขืนลูกเมียครอบครัวข้าวของเงินคำแก่อ้ายฟ้า แล้วซ้ำหื้อประทานข้าวของเงินคำยิ่งกว่าเก่าหั้นแล อยู่ลูนได้ ๒ ปี เถิงปีก่าเม็ด สกราช ๖๔๕ ตัว (พ.ศ.๑๘๒๖) เจ้าพญามังรายปลงบ้านเวนเมืองละพูนหื้นขุนฟ้าเป็นพญากินเมืองละพูน (ตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่, ๓๒)

พญามังรายได้เมืองหริภุญไชยแล้ว พระองค์ประทับอยู่ ๒ ปีก็ทรงแต่งตั้งอ้ายฟ้าเป็นพญาปกครองเมืองหริภุญไชยพญามังรายเสด็จไปตั้งเมืองใหม่ชื่อเมืองชะแวซึ่งอยู่ด้านตะวันออกเฉียงเหนือทางฝ่ายพญายีบาอพยพหนีมายังเมืองเขลางคนคร ไปอาศัยอยู่กับพญาเบิกพระราชโอรส ต่อมา ใน พ.ศ. ๑๘๓๘ พญามังรายทราบข่าวว่าพญาเบิกจะยกทัพไปตีเมืองหริภุญไชยคืน พญามังรายจึงแจ้งให้ขุนครามพระราชโอรสที่ครองเมืองเชียงรายทราบเพื่อจัดเตรียมกองทัพไว้สู้รบกองทัพพญาเบิก ครั้นเมื่อเกิดสงคราม ขุนครามชนช้างต่อสู้กับพญาเบิก ช้างของขุนครามแทงงัดช้างของพญาเบิก พญาเบิกเสียหลักโดนนายกลางช้างของขุนครามแทงหอกเข้าใส่   ตัวพญาเบิกหลบหนีกลับเขลางคนครแต่ไม่ทัน ถูกจับได้และถูกประหารที่ขุนตาล  ส่วนพญายีบาหนีไปพึ่งพญาพิษณุโลก เมืองสองแคว ประทับอยู่ที่เมืองสองแควจนสิ้นพระชนม์ เมื่อนั้น ขุนครามก็ยกพลเข้าสู่เขลางคนคร ตีกลองอุ่นเมืองประกาศยุติสงครามแล้วแต่งตั้งให้ขุนไชยเสนาเป็นผู้รั้งเมืองและสร้างเขลางคนครขึ้นใหม่ ผนวกเขลางคนครเข้าเป็นส่วนหนึ่งของอาณาจักรล้านนา
ขุนไชยเสนาสร้างเขลางคนครขึ้นใหม่ เมื่อปีฉลู พ.ศ.๑๘๔๕  อยู่ถัดจากเขลางคนครเดิมลงไปทางทิศใต้ กำแพงเมืองก่อด้วยอิฐ มีประตูเมืองที่สำคัญได้แก่ ประตูเชียงใหม่ ประตูนาสร้อย ประตูปลายนา โบราณสถานที่สำคัญได้แก่ วัดปลายนาวัดเชียงภูมิ และในระยะต่อมาได้รวมเขลางคนครทั้งสองแห่งเข้าด้วยกัน สงครามในครั้งนั้นจึงนับว่าเป็นการสิ้นสุดผู้ปกครองเมืองหริภุญไชยจากเชื้อสายของราชวงศ์จามเทวีด้วย

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น