วันอังคารที่ 28 กรกฎาคม พ.ศ. 2558

ชุมชนสมัยประวัติศาสตร์จากตำนานต่างๆ

การศึกษาเรื่องราวยุคก่อนประวัติศาสตร์ของอาณาจักรล้านนานั้นไม่สามารถทราบเรื่องราวที่ต่อเนื่องกันได้ ทำได้เพียงคาดคะเนจากหลักฐานทางโบราณคดีเพียงเท่านั้น ไม่มีหลักฐานอื่นๆ ที่จะช่วยยืนยันเรื่องราวความเป็นมาในด้านอื่นได้อีก จึงทำให้ช่วงระยะเวลาดังกล่าวขาดตอนไป จนกระทั่งเข้าสู่ยุคประวัติศาสตร์ที่มีหลักฐานเป็นลายลักษณ์อักษรให้ศึกษาค้นคว้า จึงทำให้ทราบประวัติความเป็นมาของดินแดนแถบนี้ได้ว่าราวพุทธศตวรรษที่ ๑๓ เกิดเป็นเมืองหริภุญไชยขึ้น  และเรื่องราวต่างๆ ในดินแดนแถวนี้ก็มีความชัดเจนมากขึ้นตามลำดับ
ก่อนที่จะมีการสถาปนาอาณาจักรล้านนาขึ้นนั้นได้มีบ้านเมืองและชุมชนขนาดใหญ่เกิดขึ้นแล้ว อาทิ เมืองหิรัญนครเงินยางเชียงแสน เมืองพะเยา เมืองหริภุญไชย และยังได้มีการค้นพบเมืองเล็กๆ อีกจำนวนมากตามลุ่มน้ำต่างๆ เช่น เวียงฝาง เวียงปรึกษา เวียงสีทวง เวียงพางคำ เวียงสุทโธ เวียงห้อ เวียงมะลิกา และเวียงท่ากาน
เมืองต่างๆ เหล่านี้นอกจากจะมีหลักฐานทางโบราณคดีปรากฏอย่างชัดเจนแล้ว ยังมีข้อมูลจากเอกสารประเภทตำนานและพงศาวดาร ที่กล่าวถึงการตั้งชุมชนเผ่าไททางตอนบนของภาคเหนือซึ่งในสมัยแรกนั้น มีผู้นำสำคัญ ๒ ราชวงศ์ คือ ราชวงศ์ไทยเมืองของพระเจ้าสิงหนวัติกุมารและราชวงศ์ลวจังกราช เนื้อหามีอยู่ในตำนานพื้นเมืองของล้านนาหลายเรื่อง อาทิ ตำนานสิงหนวัติกุมาร พงศาวดารเมืองเงินยางเชียงแสน ตำนานสุวรรณโคมคำ
ตามตำนานกล่าวว่า ราชวงศ์สิงหนวัติกุมาร มีราชบุตรชื่อ สิงหนวัติกุมาร ได้อพยพผู้คนมาจากเมืองไทยเทศเมื่อมหาศักราช ๑๗ (ตอนต้นพุทธกาลมาตั้งบ้านเมืองใกล้กับแม่น้ำโขงและไม่ไกลจากเมืองสุวรรณโคมคำมากนัก เมืองใหม่ชื่อนาคพันธุ์สิงหนวัตินคร เมืองนาคพันธุ์ฯ นี้ได้เรียกชื่ออีกอย่างหนึ่งว่า โยนกนครไชยบุรีศรีช้างแสน เมืองนี้มีกษัตริย์ปกครองสืบมาครั้นถึง พ..๑๕๔๗ มีชาวบ้านจับปลาไหลเผือกได้ ลำตัวโตขนาดต้นตาล ยาวประมาณ ๗ วา เมื่อฆ่าแล้วแจกจ่ายให้ผู้คนในเมืองได้นำไปประกอบอาหารรับประทาน ในคืนนั้น เมืองนี้ได้เกิดอุทกภัย ฟ้าคะนอง แผ่นดินไหว และเมืองนี้ก็จมหายกลายเป็นหนองน้ำไป ชาวเมืองที่ไม่ประสบภัยได้ร่วมใจกันสร้างเมืองใหม่ขึ้นชื่อ เวียงปรึกษา และนับว่าเป็นการสิ้นสุดแห่งราชวงศ์สิงหนวัติ
ส่วนราชวงศ์ลวจังกราชนั้น ตามตำนานเล่าว่า ประมาณ พ.๑๑๘๑ (ศักราชในตำนานแต่ละฉบับไม่ตรงกัน) มีการสร้างเมืองขึ้นบริเวณดอยตุง (อำเภอเชียงแสน จังหวัดเชียงราย) โดยในช่วงแรกที่สร้างเมืองนั้นยังไม่มีผู้ปกครองอย่างชัดเจน ครั้นเมื่อพญาอนิรุทธได้เชิญเจ้าเมืองทุกเมืองไปประชุมตัดศักราช เมืองแห่งนี้ไม่มีกษัตริย์ที่จะไปร่วมทำการตัดศักราช ประชาชนในเมืองจึงทูลขอให้พระอินทร์ส่งกษัตริย์มาปกครองที่เมืองนี้  พญาลวจังกราช  (สันนิษฐานว่าพญาลวจังกราชนั้น อาจจะเป็นชาวพื้นเมืองในเขตดอยตุง ตามตำนานเรื่องปู่เจ้าลาวจก ) รับบัญชาจากพระอินทร์ลงมาปกครองเมืองหิรัญนครเงินยางเชียงแสน พญาลวจังกราชได้เสด็จลงมาจากสวรรค์ พร้อมทั้งมเหสีและบริวารทั้งหลายไต่ตามบันไดเงินลงมาบริเวณดอยตุง ชาวบ้านจึงพร้อมใจให้เป็นผู้ปกครองเมืองและมีการสถาปนานามเมืองขึ้นว่า เมืองหิรัญนครเงินยางเชียงแสน และมีกษัตริย์ปกครองสืบมาหลายพระองค์จนถึงพญาลาวเมง พระราชบิดาของพญามังราย ผู้สถาปนาอาณาจักรล้านนา ซึ่งเรื่องนี้มีปรากฏใน ตำนานเมืองเงินยางเชียงแสน
นอกจากนี้ยังพบว่ามีเมืองพะเยาซึ่งเป็นเมืองเก่าที่สำคัญอีกเมืองหนึ่ง ตามเอกสารตำนานต่างๆ เรียกชื่อว่า ภูกามยาว เรื่องราวของเมืองนี้ปรากฏเรื่องราวในตำนานเมืองพะเยา ฉบับวัดศรีโคมคำ ตำนานเมืองพะเยา ฉบับหอสมุดแห่งชาติ ประชุมพงศาวดารภาค ๖๑ และมีข้อมูลจากศิลาจารึกสุโขทัยหลักที่สอง ปรากฏชื่อเมืองพะเยาด้วยดังข้อความว่า

เมืองใต้ออกพ่อขุนนำถุม เบื้องตะวันออกเถิงเบื้องหัวนอนเถิงลุนคาขุนคาขุนด่าน … เบื้องในหรดีถึงฉอด เวียงเหล็ก … เบื้องตะวันตกเถิง …ลำพูน … บู .. เบื้องพายัพถึงเชียงแสนและพะเยา … ลาว … 

ตามตำนานเมืองพะเยา กล่าวว่าเมืองนี้สร้างขึ้นโดยพ่อขุนจอมธรรมซึ่งเป็นราชบุตรของพ่อขุนลาวเงินหรือขุนเงินแห่งเมืองหิรัญนครเงินยางเชียงแสน พ่อขุนจอมธรรมได้อพยพประชาชนมาสร้างเมืองพะเยา และสืบสายพระราชวงศ์ปกครองเรื่อยมา กษัตริย์พระองค์สำคัญอีกพระองค์หนึ่งของพะเยาเป็นที่รู้จักของปัจจุบันดี คือ พญางำเมือง ซึ่งตามตำนานเล่าว่าพระองค์เป็นพระสหายของพญามังราย และได้ทรงมาร่วมสร้างเมืองเชียงใหม่ด้วย
นอกจากพญางำเมืองแล้ว ตามตำนานต่างๆ ได้กล่าวถึงพญาเจืองหรือขุนเจือง ผู้นำแห่งเมืองพะเยาผู้มีความสามารถมาก
ในสมัยของพระองค์ดินแดนพะเยาได้ขยายออกไปอย่างกว้างขวางถึงสิบสองพันนา เวียดนาม (แกว) ล้านช้าง สมัยของพระองค์เป็นสมัยสำคัญอีกสมัยหนึ่ง นอกจากนี้เมืองพะเยายังมีความเจริญทางศิลปกรรม ได้พบศิลปวัตถุจำนวนมากที่พะเยา เรียกว่า ศิลปะสกุลช่างพะเยา และได้พบศิลาจารึกเป็นจำนวนมากอีกด้วย
นอกจากเมืองต่างๆ ดังกล่าวนามข้างต้นแล้ว บริเวณลุ่มแม่น้ำปิงมีชุมชนสำคัญอีกชุมชนหนึ่งที่มีความเจริญรุ่งเรืองและมีวิวัฒนาการสืบต่อกันมาเป็นเวลานานคือ เมืองหริภุญไชย หรือลำพูน มีเอกสารหลายเรื่องที่กล่าวถึงเมืองนี้ ได้แก่ ตำนานลำพูน ตำนานพระธาตุหริภุญไชย จามเทวีวงศ์ ตำนานมูลศาสนา และชินกาลมาลีปกรณ์
พระธาตุหริภุญไชย

ตำนานการเกิดเมืองหริภุญไชยหรือการสร้างเมืองหริภุญไชยที่เป็นที่รู้จักกันอย่างแพร่หลาย คือ ตำนานพระธาตุหริภุญไชยซึ่งเป็นตำนานทางพุทธศาสนา กล่าวถึงการเสด็จมาของพระพุทธเจ้ายังพื้นที่แห่งนี้แล้วทรงมีพุทธทำนายว่าภายหน้าจะเกิดบ้านเมืองใหญ่ขึ้น มีเจดีย์ในพุทธศาสนาไว้กราบไหว้บูชา ตำนานกล่าวว่า 

พระพุทธเจ้าเลียบแม่น้ำระมิงคือว่าม่พิงขึ้นมาภายเหนือเถิงอุตรถานที่นี้ฮู้ว่าจักเป็นที่ตั้งสุวัณณเจดีย์แห่งนั้นแล้ว พระพุทธเจ้าก็ปรารภเพื่อว่าจักนั่งในขณะอันนั้นหินก้อนหนึ่งก็บุแผ่นดินออกมาตั้งอยู่ พระพุทธเจ้าวางบาตรไว้แล้วก็นั่งอยู่เหนือก้อนนั้น ในกาลนั้นชมพูนาคราชก็ออกมาอุปฐากพระพุทธเจ้า พญากาเผือกก็ออกมาอุปฐากพระพุทธเจ้า ลัวะพรานป่าผู้หนึ่งหื้อหมากสมอเป็นทานแก่พระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าสันหมากสมอแล้วซัดกะดูกหมากสมอตกลงเหนือแผ่นดิน กะดูกหมากสมออันนั้นก็แวดวัดผัด ๓ รอบพระพุทธเจ้ารู้เหตุอันนั้นแล้วแย้มไค่หัวหื้อปรากฏ มหาอานนท์ถามเหตุอันนั้นเซิ่งพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าทำนายว่า ดูราอานนท์ เมื่อตถาคตนิพพานแล้วช้านานฐานะที่นี้จักเป็นมหานครอันหนึ่งชื่อว่าเมืองหริภุญไชยบุรี เหตุพระตถาคตได้สันหมากสมอในฐานะที่นี้พระพุทธเจ้าและตนก่อเจติยคำและหลัง และที่อันตถาคตนั่งนี้จักเป็นที่ตั้งสุวัณณเจดีย์คำแห่งตถาคตนิพพานไปแล้วธาตุกะหม่อมธาตุดูกอกธาตุดูกนิ้วมือธาตุย่อยตถาคตเต็มบาตรหนึ่งก็ตักมาตั้งอยู่ในฐานะที่นี้เมื่อใดพรานป่าผู้อันหื้อหมากสมอเป็นทานแก่ตถาคตและเกิดมาเป็นพญาอาทิตยราชเสวยเมืองหิรัญภุญไชยที่นี้ดั่งอั้น (ตำนานพระธาตุหริภุญไชย, ๗๙-๘๐.)


นอกจากตำนานพระธาตุหริภุญไชยซึ่งเป็นตำนานทางพุทธศาสนาแล้วยังพบว่ามีพงศาวดารเกี่ยวกับเมืองหริภุญไชย อาทิ จามเทวีวงศ์ ตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่ ตำนานมูลศาสนา ชินกาลมาลีปกรณ์ เอกสารเหล่านี้ได้กล่าวถึงตำนานการสร้างเมืองหริภุญไชยไว้เช่นกันแต่ข้อมูลหรือช่วงระยะเวลาที่ปรากฏในเอกสารนั้นจะแตกต่างกันจึงต้องเลือกศึกษาอย่างละเอียดจากหลักฐานทางโบราณคดีที่ขุดค้นพบประติมากรรมรูปกวางหมอบซึ่งเป็นวัตถุทางพุทธศาสนาที่นิยมสร้างในวัฒนธรรมทวารวดีราวพุทธศตวรรษที่ ๑๓ – ๑๔ จึงทำให้ชินกาลมาลีปกรณ์ซึ่งมีเนื้อหาบางส่วนเกี่ยวกับการสร้างเมืองหริภุญไชยที่ระบุปีที่สร้างไว้ใกล้เคียงกับอายุของหลักฐานทางโบราณคดีเป็นเอกสารหรือตำนานที่มีความน่าเชื่อถือที่สุดในบรรดาตำนานทั้งหมด

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น